posttoday

กบง.ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 67 สตางค์ หลังตลาดโลกปรับเพิ่ม

05 กันยายน 2560

กบง.ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 67 สตางค์ เหตุต้นทุนตลาดโลกพุ่ง พร้อมใช้เงินกองทุนอุดหนุนอีกเดือนละ 500 กว่าล้าน ลดผลกระทบประชาชน

กบง.ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 67 สตางค์ เหตุต้นทุนตลาดโลกพุ่ง พร้อมใช้เงินกองทุนอุดหนุนอีกเดือนละ 500 กว่าล้าน ลดผลกระทบประชาชน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กบง.ได้พิจารณาปรับขึ้นขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อ้างอิงสำหรับเดือน ก.ย.2560 ที่ระดับ 0.67 บาทต่อ กก. ทำให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นเป็น 21.15 บาทต่อกิโลกรัม หรือปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อถังขนาด 15 กก. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2560

ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาดังกล่าวเนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลก (ซีพี) เดือน ก.ย.2560 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 490 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 50 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือน ส.ค. ฝ2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.4854 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 33.4292 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซแอลพีจีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4389 บาทต่อกก. จาก 16.2581 บาทต่อ กก. เป็น 17.6970 บาทต่อ กก. ดังนั้น เพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีสะท้อนต้นทุน สอดคล้องตามแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจี

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กบง.เห็นควรให้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาโดยให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 0.8160 บาทต่อ กก. จากเดิมที่กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 2.7559 บาทต่อ กก. เป็นชดเชย 3.5719 บาทต่อ กก. เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากเกินไป

ทั้งนี้ ผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายสุทธิอยู่ที่ 508 ล้านบาทต่อเดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 ก.ค.2560 อยู่ที่ 3.86 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีในส่วนของก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 5,859 ล้านบาท และบัญชีในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 3.27 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันที่ประชุม กบง.ยังได้พิจารณาผลการศึกษาการทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) เพื่อให้สะท้อนต้นทุน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเห็นชอบให้ปรับสูตรราคาเอ็นจีวีโดยเพิ่มค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพเอ็นจีวีเฉพาะรถส่วนบุคคล ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยังคงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคำนวณเดิม ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 โดยให้ ปตท. รับไปบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสมต่อไป