posttoday

"รสนา"ย้ำร่างกม.รัฐวิสาหกิจเป็นการแปรรูปแบบซ้อนเร้น

04 กันยายน 2560

"รสนา" ชี้ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นการแปรรูปแบบซ่อนเร้น ย้ำกฎหมายมีจุดอ่อนที่ต้องพิจารณาแก้ไข

"รสนา" ชี้ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นการแปรรูปแบบซ่อนเร้น ย้ำกฎหมายมีจุดอ่อนที่ต้องพิจารณาแก้ไข

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) และอดีต ส.ว. กทม. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นหลังจากที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจ)เป็นการนำระบบธรรมาภิบาลที่ดี มาเป็นมาตรฐานในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้มีระบบชัดเจนเพื่อให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะและสนับสนุนภารกิจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐได้อย่างเต็มศักยภาพและไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

นางรสนาข้อความไว้ดังนี้

"ตอบโจทย์ทิศทางรัฐวิสาหกิจไทย"

ดิฉันต้องขอขอบคุณคุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ที่ได้ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์ของดิฉันต่อร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจในเฟสบุ๊คของท่าน

โดยส่วนตัวดิฉันนับถือคุณเอกนิติ และมั่นใจว่าท่านมีความหวังดีต่อประเทศ แต่ร่างกฎหมายนี้ยังมีจุดอ่อนที่ต้องพิจารณาแก้ไข

ดิฉันขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมเป็นข้อๆ ดังนี้

ข้อ1) คุณเอกนิติชี้แจงเฉพาะการที่กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในบรรษัท 100% ตลอดไปโดยโอนเปลี่ยนมือมิได้ แต่เป็นคนละเรื่องกับการเปลี่ยนแปลงในระดับที่บรรษัทฯถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ หรือระดับที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทลูกหรือหลานชั้นที่ต่ำลงไป และเนื่องจากไม่มีข้อห้ามมิให้บรรษัทฯเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ จึงย่อมสามารถมีการเจรจาเชิงธุรกิจในลักษณะที่มีผลเป็นการแปรรูปเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ถ้าหากสมมุติจะแก้ไขร่างกฎหมายให้มีข้อห้ามมิให้บรรษัทฯเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจหรือในบริษัทลูกชั้นต่ำลงไป ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมีบรรษัทฯ เพราะ คนร.สามารถทำงานอื่นๆของบรรษัทฯได้อยู่แล้ว

ข้อ2) คุณเอกนิติชี้แจงว่ามีขั้นตอนและกลไกที่จะบังคับให้บรรษัทฯต้องคงสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจในสัดส่วนที่กำหนด อย่างไรก็ดี ในระดับบริษัทลูกชั้นต่ำลงไปนั้น ไม่มีข้อห้ามมิให้จัดตั้งและโอนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไปให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยเจรจาเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น ซึ่งอาจมีผลเป็นการแปรรูปอย่างหนึ่ง

ข้อ3) เนื่องจากไม่มีข้อห้ามมิให้จัดตั้งและโอนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไปให้แก่บริษัทลูกชั้นต่ำลงไปโดยเจรจาเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น ดังนั้นจึงย่อมอาจมีผลเป็นการแปรรูปอย่างหนึ่งดังที่อธิบายแล้วในข้อ 2. ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่จะกำกับการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ และเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานนั้น คนร.สามารถดำเนินการได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีบรรษัทฯ

ส่วนวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจมีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพนั้น การจัดตั้งบรรษัทฯไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพราะไม่สามารถเปิดช่องทางทำธุรกิจให้แก่รัฐวิสาหกิจนอกเหนือจากที่กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจบัญญัติไว้ และยังมีปัญหาว่าการเน้นการแข่งขันเชิงธุรกิจนั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 หรือไม่ นอกจากนี้การเน้นแข่งขันเชิงพาณิชย์อาจจะกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจลืมเป้าหมายหลักในการรับใช้ประชาชนแต่เปลี่ยนไปคิดในเชิงธุรกิจมากเกินไป โดยที่รัฐจะได้รับประโยชน์มากกว่าเดิมเพียงใดยังน่าสงสัยอยู่

ข้อ4) วัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างความชัดเจนในหน้าที่ของผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจจากเดิมที่มีหน้าที่ทับซ้อนกันของหลายหน่วยงานนั้น คนร.สามารถดำเนินการได้เองอยู่แล้วโดยการกำหนดแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนแม่บท ไม่จำเป็นต้องมีบรรษัทฯ ส่วนวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งบรรษัทฯ ที่ต้องการให้ทำหน้าที่ของผู้ถือหุ้นเชิงรุกนั้น ก็มีแต่จะกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจเน้นผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นเป็นสรณะ จะทำให้ลืมเป้าหมายหลักในการรับใช้ประชาชนแต่เปลี่ยนไปคิดในเชิงธุรกิจมากเกินไปดังที่อธิบายแล้ว

ข้อ5)ดิฉันยังเห็นว่าร่างพ.ร.บ ฉบับนี้เป็นการแปรรูปแบบซ่อนเร้น ดังที่ดิฉันได้อุปมาว่าบรรษัทก็เหมือนกับคอกม้าที่แม้กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าของคอกม้า100% แต่ไม่มีข้อห้ามในการซื้อขายแลกเปลี่ยนม้าในคอก ซึ่งคือการแปรรูปในระดับของบริษัทลูกและหลาน เนื่องจากไม่มีข้อห้ามมิให้จัดตั้งและโอนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจไปให้แก่บริษัทลูกชั้นต่ำลงไปโดยเจรจาเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้น ซึ่งมีผลเป็นการแปรรูปอย่างหนึ่งดังที่อธิบายแล้วในข้อ 2. แต่การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการเดินอ้อมพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 ซึ่งหากจะนำรัฐวิสาหกิจไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ บรรดาสาธารณสมบัติ อำนาจ และสิทธิมหาชนของรัฐต้องถูกแบ่งแยกออกมาเสียก่อนเพื่อคิดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้แก่รัฐ

การนำรัฐวิสาหกิจไปขึ้นกับบรรษัทฯจึงไม่ได้ตอบโจทย์เจตนารมณ์ที่จะพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับจะกลายเป็น ช่องทางให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบซ่อนเร้นในชั้นลูกและหลาน ซึ่งทิศทางแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการตกลง พูดคุยกันทางการเมืองก่อนอย่างรอบคอบ ไม่ใช่อ้างว่าได้รับฟังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งๆที่สหภาพรัฐวิสาหกิจก็ยังคัดค้านร่างพ.ร.บ ฉบับนี้อย่างชัดเจน

ข้อ6)ตามมาตรา51 นั้นใช้บังคับเฉพาะกับรัฐวิสาหกิจที่บรรษัทฯถือหุ้นเกิน50% ในกรณีที่มีการตั้งบริษัทลูกที่บรรษัทฯหรือรัฐวิสาหกิจถือหุ้นน้อยกว่า 50% ก็จะพ้นจากการถูกควบคุมตามกฎเกณฑ์ที่คุณเอกนิติยกขึ้นมาชี้แจงในข้อนี้ ดังกรณีPTTOR ที่จะแยกออกจากบริษัทแม่ โดยบริษัทแม่จะถือหุ้นน้อยกว่า50% ทั้งๆที่เป็นธุรกิจที่ได้กำไร ครม.ต้องตอบคำถามว่าเหตุใดจึงยินยอมลดสัดส่วนหุ้นของรัฐให้ต่ำกว่า50% และยกผลกำไรให้เอกชนเป็นกรณีที่สตง.ทักท้วงและทำให้ยังไม่สามารถแยกเป็นบริษัทลูกตามที่ต้องการใช่หรือไม่ แต่ถ้ากรณีนี้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของบรรษัท บรรษัทจะเป็นตัวกำบังการตัดสินใจเช่นนี้ได้ โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบใช่หรือไม่ และหากเป็นเช่นนี้จริง กิจการที่ได้กำไรของรัฐวิสาหกิจต่างๆก็อาจจะถูกผ่องถ่ายออกไปให้เอกชนเข้าร่วมรับผลกำไรนั้นอย่างง่ายดาย ใช่หรือไม่

ดิฉันเห็นว่าการตั้งบรรษัทในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นกระบวนการผ่องถ่ายทรัพย์สินไปสร้างความร่ำรวยให้กับเอกชนเพียงบางกลุ่ม และยังเห็นว่าร่างพ.ร.บ ฉบับนี้ควรตัดส่วนที่ว่าด้วยบรรษัทรัฐวิสาหกิจออกไป โดยการมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจก็เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ในการพัฒนาประสิทธิภาพ ความโปร่งใสของรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยได้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วโดยไม่สร้างความวิตกกังวล และความเคลือบแคลงใจให้กับประชาชน แต่ทั้งนี้ก็ต้องตัดอำนาจของ คนร. ในการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นตามมาตรา (4) และ (8) ออกไปด้วย