posttoday

สนช.รับหลักการกม.ตั้งคนร.ซูเปอร์บอร์ดคุมรัฐวิสาหกิจ

01 กันยายน 2560

มติสนช.รับหลักการกม.ตั้ง คนร. ซูเปอร์บอร์ดคุมรัฐวิสาหกิจ รมช.คลัง มั่นใจระบบสรรหา คนร. ปลอดมือมืดแทรกแซง

มติสนช.รับหลักการกม.ตั้ง คนร. ซูเปอร์บอร์ดคุมรัฐวิสาหกิจ รมช.คลัง มั่นใจระบบสรรหา คนร. ปลอดมือมืดแทรกแซง

วันที่ 1 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเอกฉันท์ 169 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียดและกำหนดกรอบเวลาที่ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันก่อนส่งกลับมายังที่ประชุมสนช.เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจจำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1.ให้มีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวมทั้งระบบให้เป็นไปตามโดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ 2.ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประเมินผลการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง 3.ให้มีกลไกสนับสนุนให้การคัดเลือกและการปฏิบัติงานของกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.ให้มีบรรษัทเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจดังกล่าว

ทั้งนี้ โครงสร้างของคนร.ประกอบด้วบ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคนร. รองนายกฯที่นายกฯมอบหมายหนึ่งคนทำหน้าที่รองประธานคนร. จากนั้นจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว.คลัง รัฐมนตรีอื่นที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)แต่งตั้งจำนวน 2 คน ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการบริษัท นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครม.แต่งตั้งอีกจำนวน 5 คน

ขณะที่ อำนาจหน้าที่ของคนร.มีทั้งสิ้น 15 ด้าน อาทิ จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อครม. กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังหรือบรรษัทในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดโดยความเห็นชอบของครม. เสนอความเห็นต่อครม.ในการควบหรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจและการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนให้หุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจ

ส่วนการอภิปรายของสมาชิกสนช.นั้นส่วนใหญ่อภิปรายไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นห่วงว่าในอนาคตฝ่ายการเมืองอาจใช้ช่องทางในการแต่งตั้งคนร.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแทรกแซงกิจการของรัฐวิสาหกิจ จึงอยากให้มีการพิจารณาเพื่อหาทางป้องกันปัญหาในอนาคต

ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ชี้แจงว่า การจัดทำนโยบายของรัฐวิสาหกิจในอนาคตจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การขับเคลื่อนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนข้อห่วงใยเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการคนร.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒินั้นในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเอาไว้ชัดเจน ซึ่งทำให้ครม.ไม่สามารถแต่งตั้งใครมาเป็นดำรงตำแหน่งก็ได้

รมช.คลัง กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน การแต่งตั้งกรรมการคนร.ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจะดำเนินการภายใต้ระบบการสรรหา ซึ่งจะมีต้นทางจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก่อนส่งมาให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา โดยคณะกรรมการสรรหาดังกล่าจะประกอบไปด้วยอดีตข้าราชการระดับสูง จึงคิดว่ากระบวนการสรรหาที่ให้บุคคลเหล่านี้ดำเนินการนั้นปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์และไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และจะเป็นส่วนช่วยให้ได้มาซึ่งกรรมการคนร.จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่สนช.กำลังพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึงประธานสนช.เพื่อขอให้ยับยั้งร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.

ทั้งนี้ คสรท.มีข้อท้วงติงว่าการยกร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560มาตรา 77 ว่าด้วยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และมาตรา 78 ประชาชนรวมตัดสินใจทางการเมืองและการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน นอกจากนั้นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 45 วรรคแรก ขัดหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขัดกับอนุสัญญาสำคัญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ซึ่งได้กำหนดให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิของลูกจ้างหรือพนักงานของบรรษัทวิสาหกิจ ที่กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจทำให้ลูกจ้างพนักงานของบรรษัทไม่สามารถใช้สิทธิรวมตัวกันเป็นหาภาพแรงงานฯ ได้ จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 และขัดกับหลักการสากล ดังนั้น คสรท. จึงขอให้สนช.โปรดพิจารณายับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อน และส่งคืนให้รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญต่อไป