posttoday

รื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ประกาศใช้ปี'61

01 กันยายน 2560

กกพ.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้ารอบปี 2561-2565 ทบทวนปัจจัยต้นทุนหวังให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ให้มากที่สุด

กกพ.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้ารอบปี 2561-2565 ทบทวนปัจจัยต้นทุนหวังให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้ให้มากที่สุด

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้จัดทำผลการศึกษาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ (พ.ศ. 2561-2565) ซึ่งจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเร็วๆ นี้  และคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี 2561 โดยโครงสร้างใหม่จะมีการปรับปรุงค่าบริการรายเดือนที่เก็บรวมในบิลค่าไฟฟ้าจากปัจจุบันเก็บอยู่ 38.22 บาท

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะสะท้อนต้นทุนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้ามากขึ้น ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  และการไฟฟ้านครหลวง  ซึ่งต้องรอการพิจารณาข้อมูลแผนการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ด้วย  โดยที่ผ่านมา กกพ.ได้สั่ง 3 การไฟฟ้าจัดทำคู่มือระบบบัญชีไปแล้ว เพื่อทบทวนการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าและจะไม่นำมารวมในค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดต้นทุนในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)

นอกจากนี้ จะต้องมีการกำหนดอัตราค่าเอฟทีที่ต้องประกาศใหม่ เพื่อให้สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน โดยต้องปรับเป็นศูนย์แล้วนำไปผนวกไว้ในค่าไฟฐาน ซึ่งยังไม่สามารถรถระบุได้ว่าค่าไฟใหม่จะมีทิศทางปรับขึ้นหรือลง เพราะขึ้นอยู่ที่การลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.75 บาท/หน่วย ขณะที่เอฟทีอยู่ที่ ติดลบ 15.90 สตางค์/หน่วย

นายวีระพล กล่าวว่า เตรียมเสนอบอร์ด กกพ.ภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อประกาศอัตราค่าจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)  ซึ่งจะใช้กับโครงการทั่วไป มีอัตราเดียวกับโครงการสถานีชาร์จไฟนำร่องที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กำหนดไว้แล้วคือเป็นอัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา (ทีโอยู) โดยช่วงเวลากลางวันราคา 4.10 บาท/หน่วย และกลางคืน วันเสาร์และอาทิตย์ อัตรา 2.60 บาท/หน่วย

สำหรับการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าสำรอง (แบ็กอัพเรต) เพื่อใช้เป็นการชั่วคราวหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วในวันที่ 31 ส.ค.นั้น จะมีการรวบรวมเพื่อเสนอเข้าบอร์ด กกพ. และคาดว่าจะประกาศใช้เดือน ก.ย.นี้ โดยจะกำหนดเป็นอัตราชั่วคราวประกาศใช้ถึงสิ้นปีนี้ จากนั้นจะต้องปรับใหม่พร้อมกับโครงสร้างค่าไฟใหม่ปีหน้า จะไม่เก็บจากผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์กับลม แต่อนาคตจะพิจารณาว่าปริมาณมากแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่าแบ็กอัพเรตเก็บแล้ว 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.ผลิตเองใช้เอง รองรับการไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง จึงต้องซื้อสำรองไฟจากการไฟฟ้าไว้จะจัดเก็บที่ 52-66 บาท/กิโลวัตต์ กลุ่ม 2 ผู้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) เพื่อป้อนไฟในนิคมอุตสาหกรรม และขายไฟให้กับการไฟฟ้าเก็บอัตรา 26-33 บาท/กิโลวัตต์ และกลุ่ม 3 กรณีที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตแต่ยังคงต้องการไฟจากระบบของการไฟฟ้าส่วนหนึ่งอยู่

"กรณีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และลม ยืนยันว่าจะไม่มีการเก็บภายในปีนี้แน่นอน เนื่องจากต้องมีการนำข้อมูลต่างๆ เข้ามาศึกษาก่อน ซึ่งจากสถิติระบุว่าหากพลังงานทดแทนเข้าระบบเกิน 20% จะส่งผลต่อค่าไฟฟ้า แต่ในประเทศไทยโซลาร์เข้าระบบเพียง 3,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งประเทศที่ 4 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็นเพียงไม่ถึง 1% จึงมั่นใจว่าไม่กระทบแน่นอน" นายวีระพล กล่าว