posttoday

"ไจก้า"เผยแผน15ปีพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ

30 สิงหาคม 2560

ไจก้ากางแผน 15 ปี พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เร่งประมูลพื้นที่แปลงเอมูลค่าหมื่นล้านภายในกลางปีหน้า

ไจก้ากางแผน 15 ปี พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เร่งประมูลพื้นที่แปลงเอมูลค่าหมื่นล้านภายในกลางปีหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.เปิดถึง   เปิดเผยว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)ได้มานำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนแม่บทการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งก่อนหน้าฝ่ายไทยได้ขอให้ ช่วยศึกษาแผนดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อนำแผนมาบูรณาการร่วมกับแผนแม่บทของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และแผนพัฒนาของปตท. ที่ได้ช่วยกระทรวงคมนาคมศึกษาไว้ก่อนหน้านี้  ทั้งนี้เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่สมบูรณ์และเป็นประโยชน์สูงสุด โดยเบื้องต้นญี่ปุ่นเสนอให้มีการจัดทำแผนแม่บทระยะยาว 15 ปี เริ่มจากปี2560-2575 โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ช่วง   คือระยะสั้น  กลางและ ยาว ช่วงละ5ปี

โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5  ส่วนคือ1.แผนพัฒนาบริเวณสถานีกลางให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางบกและทางราง ซึ่งในอนาคตจะรองรับทั้งระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเมือง รถไฟทางคู่และ รถโดยสารของบริษัทขนส่งจำกัด และรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการสร้างสถานีเพิ่มเติมด้วย 2.แผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยจะมีการ  พัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจ  โรงแรม และย่านการค้า 3. แผนพัฒนาตลาดจัตุจักรให้มีความทันสมัย แต่จะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตตลาดชุมชนเดิมซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก 4.แผนพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะให้สามารถเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรวมของสถานีกลาง และ5. แผนพัฒนาการเดินทางเชื่อมต่อจากบริเวณหมอชิตเก่า และหมอชิตใหม่  โดยในอนาคตจะมีการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อจากภายในบริเวณสถานีกลางไปยัง สถานี บขส. แห่งใหม่ ได้

“ญี่ปุ่นมองว่าต้องพัฒนาเต็มรูปแบบ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 ปี  ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและสถานีแม่น้ำ รวมเข้าไปด้วย  ยืนยันว่าตามแผนแม่บทที่ญี่ปุ่นนำเสนอจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ โซนเอ ขนาด 32 ไร่ มูลค่าราว 10,000 ล้านบาทของ  รฟท.  โดยก็ยังเดินหน้าเปิดประมูลได้ตามปกติ  และไม่กระทบแผนการก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ของบขส.   ซึ่งเราก็เห็นด้วยตามผลการศึกษาของญี่ปุ่น โดยหลังจากนี้ กระทรวงจะต้องนำผลการศึกษาของญี่ปุ่น ไป บูรณาร่วมกับแผนแม่บทของรฟท.และปตท.  เพื่อจัดทำเป็นแผนแม่บทที่สมบูรณ์ เพื่อนำแผนฉบับสมบูรณ์ไปเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณะในเดือนพ.ย. ต่อไป”

นายอาคมกล่าวต่อว่า ความคืบหน้าในการเปิดประมูล โซนเอ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ของคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี)  คาดว่าจะผ่านการพิจารณาภายในปีนี้ และเปิดประมูลได้ในปี61  โดยหากการประมูลล่าช้ากว่ากลางปี 61 คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 2563 เพราะพื้นที่โซนเอเป็นพื้นที่ซึ่งตามแผนจะพัฒนาเป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า  ไม่ใช้ระบบขนส่งมวลชนที่จำเป็นต่อการเชื่อมต่อการเดินทาง สามารถทยอยประมูลภายหลังได้โดยไม่กระทบต่อระบบการเดินทางโดยภาพรวม

นอกจากนี้ในการหารือครั้งนี้ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสันขนาด 497 ไร่และสถานีแม่น้ำขนาด 277.5 ไร่ เพิ่มเติมด้วย  ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นมีทั้งรัฐบาลลงทุนเอง และเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รฟท. กล่าวว่า แผนแม่บทที่ญี่ปุ่นนำเสนอครั้งนี้ ทางไจก้า ได้จ้างบริษัท นิปปอนโคอิ คัมปะนี ลิมิเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นทำการศึกษา โดยผลการศึกษาที่นำเสนอครั้งนี้เป็นผลการศึกษาเบื้องต้น  โดยในเดือนก.ย.จะนำเสนอผลการศึกษาขั้นกลางให้ฝ่ายไทยรับทราบอีกครั้ง และจะเสนอแผนแม่บทฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นฉบับที่สมบูรณ์ในเดือนต.ค.  ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ การแบ่งพื้นที่ในการพัฒนา รวมไปถึงรูปแบบการลงทุนในแต่ละส่วน