posttoday

ขสมก.เร่งรัดหนี้รถร่วม800ล้าน ขู่ตัดสิทธิ์ประมูลเส้นทางเดินรถ

29 สิงหาคม 2560

ขสมก.เร่งรีดหนี้รถร่วม 800 ล้าน พร้อมขู่ตัดสิทธิ์เข้าประมูลเส้นทางเดินรถ ชงขยายสัญญาซ่อมบำรุงรถเมล์สามปีรวด 4.72 พันล้าน จี้องค์กรแก้ทุจริตเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ขสมก.เร่งรีดหนี้รถร่วม 800 ล้าน พร้อมขู่ตัดสิทธิ์เข้าประมูลเส้นทางเดินรถ ชงขยายสัญญาซ่อมบำรุงรถเมล์สามปีรวด 4.72 พันล้าน จี้องค์กรแก้ทุจริตเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

นายวีระพงศ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ไปดำเนินการเร่งรัดหนี้สินที่รถร่วมบริการ ขสมก.ให้จ่ายหนี้สินที่ติดค้างอยู่กับองค์กรวงเงินราว 800 ล้านบาท โดยให้ตั้งทีมฝ่ายกฎหมายเพื่อเร่งรัดหนี้สินและดำเนินการทางกฎหมายหากไม่มีความคืบหน้า

อย่างไรก็ตามได้แสดงเจตจำนงค์ให้ขสมก.ดำเนินการตัดสิทธิ์บริษัทรถร่วมที่ต้องการเข้าประมูลเส้นทางปฏิรูปจำนวน 269 เส้นทางหากไม่จ่ายหนี้สินที่ติดค้างกับองค์กรเพราะถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะบริการประชาชน

นายวีระพงศ์กล่าวต่อว่า จากกรณีที่ภาครัฐยังไม่สามารถจัดหารถเมล์ใหม่เพื่อให้บริการประชาชนได้ตามแผนทำให้ขสมก.ต้องวางแผนซ่อมบำรุงรถเมล์เก่าเพื่อรองรับแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถ 269 เส้นทาง สร.ขสมก.จึงได้เสนอฝ่ายบริหารให้ต่อสัญญาเหมาซ่อมบำรุงรถโดยสารออกไปเป็นเวลา 3ปี วงเงิน 4,728 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรสามารถวางแผนซ่อมบำรุงรถเมล์ในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีปริมาณรถเพียงพอให้บริการประชาชนโดยปกติ ขสมก.จะดำเนินการต่อสัญญาซ่อมบำรุงรายปี วงเงิน 1,576 ล้านบาทต่อปี โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 1,600 บาทต่อรถโดยสารหนึ่งคัน คิดเป็นวันละ 4,320,000 ล้านบาท จากจำนวนรถโดยสารที่มีทั้งหมด 2,700 คัน

ส่วนประเด็นที่รมช.คมนาคม นายพิชิต อัคราทิตย์ ได้กำชับให้ขสมก.ไปดำเนินการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นและรับผลประโยชน์โยมิชอบภายในองค์กรนั้น นายวีระพงศ์กล่าวว่าได้เสนอประธานบอร์ดให้เร่งแก้ไขเรื่องทุจริตภายในองค์กรโดยเฉพาะประเด็นด้านผลประโยชน์ทับซ้อนของระดับผู้บริหารทั้งในอดีตที่บางรายอาจเป็นเจ้าของเส้นทางรถร่วมฯขสมก.จนนำไปสู่พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงดังกล่าว

ขณะที่ประเด็นด้านการนำพนักงานสองพันคนเข้าโครงการเกษียรก่อนกำหนด (Early Retire) เพื่อจ่ายเงินให้คนละ 1 ล้านบาทนั้น สร.ขสมก.ต้องการให้องค์กรตั้งคณะกรรมการกำหนดอัตราโครงสร้างผลตอบแทนอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะมีการจ่ายให้ 1 ล้านบาทเท่ากันทุกคนหรือไม่ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้นพนักงานส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องพร้อมดำเนินการโครงการดังกล่าว แต่ในทางกลับกันบริษัทรัฐวิสาหกิจมีกติกาต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นจำนวน 30 เท่าของเงินเดือนซึ่งจะทำให้พนักงานแต่ละคนได้รับเงินไม่เท่ากันจนบางคนมองว่าเงินค่าตอบแทนเพียง 500,000 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัวหากไม่มีรายได้จากงานประจำอีกต่อไป