posttoday

เคาะค่าโดยสารรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง กิโลเมตรละ 1.8 บาท

29 สิงหาคม 2560

คาดผู้โดยสารไฮสปีดระยองทะลุ 1.7 แสนคนต่อวัน เคาะค่าโดยสารกิโลเมตรละ 1.8 บาท เตรียมชงโครงการเข้ากระทรวงคมนาคม ต.ค.นี้

คาดผู้โดยสารไฮสปีดระยองทะลุ 1.7 แสนคนต่อวัน เคาะค่าโดยสารกิโลเมตรละ 1.8 บาท เตรียมชงโครงการเข้ากระทรวงคมนาคม ต.ค.นี้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง หรือรถไฟเชื่อมสามสนามบิน วงเงิน 2.15 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในแพคเกจลงทุน EEC Track ระยะเร่งด่วนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี โดยโครงการดังกล่าวจะประกอบด้วยโครงข่ายรถไฟดังนี้

1.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal : ARL)

2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท – ดอนเมือง (ARLEX)

3.โครงการรถไฟความเร็วสูง   สายกรุงเทพฯ – ระยอง (HSR) เพื่อให้รถไฟฟ้าแบบ City Line  และการเดินรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์เป็นโครงการเดียว สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่ารฟท.สรุปผลศึกษาความเหมาะสมของโรงการเข้าสู่กระทรวงคมนาคมภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยตั้งเป้าเปิดให้บริการในปี 2566 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวเส้นทางโดยคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้า City Line ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ จำนวน 103,920 คน/เที่ยว/วัน และมีผู้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง จำนวน 65,630 คน/เที่ยว/วันและจะเพิ่มดีมานต์การเดินทางเป็น 362,410 คน ภายในปี 2615 โดยมีการคิดอัตราค่าโดยสารแรกเข้า 13 บาท และคิดเพิ่มอีก 2บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่รถไฟฟ้าความเร็วสูงมีค่าแรกเข้า 20 บาทและคิดเพิ่มอีก1.8 บาทต่อกิโลเมตร

สำหรับแนวเส้นทางโครงการที่ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง มีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง รูปแบบโครงสร้างของโครงการ จะก่อสร้างเป็นทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (standard Gauge) 2 ช่วง คือ พญาไท - ดอนเมือง และลาดกระบัง - ระยอง พร้อมทางรถไฟเชื่อมเข้าออกสนามบิน ส่วนใหญ่เป็นทางรถไฟยกระดับ มีส่วนที่เป็นอุโมงค์ทางคู่บริเวณช่วงถนนพระราม 6 – สามเสน สถานีสุวรรณภูมิ และเขาชีจรรย์ รวมระยะทางประมาณ 260 กม. โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่คลองตัน เพื่อรองรับรถไฟฟ้า City Line ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ตั้งอยู่ที่จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง โดยมีศูนย์กลางควบคุมการเดินรถ (Operations Control Centre - OCC) ของโครงการตั้งอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงทั้ง 2 แห่ง    โดยตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทยเดิมไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้เตรียมเสนอมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอีกด้วย