posttoday

เอกชนร้องตรวจสอบคุณสมบัติ 2 บริษัทเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวเสื่อม

16 สิงหาคม 2560

"ที พี เค เอทานอล" ไม่จบ เตรียมยื่นหลักฐานร้อง “กรมการค้าต่างประเทศ” สัปดาห์หน้า ตรวจสอบคุณสมบัติ 2 เอกชนเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวเสื่อมรัฐ

"ที พี เค เอทานอล" ไม่จบ เตรียมยื่นหลักฐานร้อง “กรมการค้าต่างประเทศ” สัปดาห์หน้า ตรวจสอบคุณสมบัติ 2 เอกชนเข้าร่วมประมูลซื้อข้าวเสื่อมรัฐ

นายสุเมธ เลิศตันติสุนทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังที่บริษัทฯได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสตอกรัฐ กรณีตัดสิทธิ์บริษัทฯไม่ให้เข้าร่วมประมูลข้าวสารสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ชะลอการอนุมัติขายไว้ชั่วคราว แต่หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลางนั้น ทำให้กรมการค้าต่างประเทศสามารถนำข้าวล็อตดังกล่าวออกมาจำหน่ายได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวบริษัทเคารพในการตัดสิน แต่ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหม ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆที่มาเข้าร่วมการประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล มองว่าบริษัทที พี เค เอทนานอล ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะมีบางบริษัทไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางด้านคุณสมบัติเหมือนกับบริษัทที พี เค เอทานอล ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มี 2 บริษัท ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติให้เข้าร่วมประกวดราคา ทั้งๆที่ตอนยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ ยังไมได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งตามเกณฑ์ทีโออาร์ของกรมการค้าต่างประเทศที่ประกาศไว้จะต้องมีใบประกอบกิจการรง.4 มายื่นด้วย แต่กลับได้รับใบประกอบรง.4 หลังจากที่ยื่นประมูลสต๊อกข้าวรัฐบาลไปแล้ว

“การออกมาชี้แจงข้อมูลผ่านสื่อครั้งนี้ เพราะต้องการถามหาความชอบธรรม เมื่อมีเอกชนที่ชนะการประมูลแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานตามทีโออาร์กำหนด กลับถูกได้รับการยกเว้น อนุมัติให้ซื้อข้าวได้ แต่ทางบริษัทฯกลับถูกตัดสิทธิ์ ตามที่กรมการค้าต่างประเทศกล่าวอ้าง คือ มีกรรมการเก่าที่เคยถูกแบล็คลิสต์จากรัฐยังมีชื่ออยู่  แม้จะไม่มีหุ้นเลย ก็ถูกยกมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งส่วนนั้น พอเข้าใจ แต่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการประมูลข้าวกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน ก็ยังมาตัดสิทธิ์ออก อันนี้ไม่ทราบเกณฑ์การตัดสิทธิ์”

นายสุเมธ กล่าวว่า จากข้อมูลที่บริษัทรวบรวมมาเบื้องต้น ได้ข้อมูล 2 บริษัท และอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมส่งให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาภายใน 7 วันหลังจากนี้ ซึ่งมั่นใจว่าจะมีข้อสังเกตลักษณะคล้ายๆกันกับบริษัทที่เหลือหลังจากนี้อีก แต่ยอมรับว่าข้อมูลที่ได้มาอาจไม่สามารถชี้ชัดความชอบธรรมได้ทั้งหมด เพราะบริษัทก็ไม่ได้อยู่ในวงการค้าข้าว แต่ต้องการให้ภาครัฐชี้แจงข้อมูลให้ชัดเจน โปร่งใส

“ในส่วนของกรณีที่คำตัดสินศาลระบุว่าบริษัทสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมกฎหมายของบริษัท เร่งรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อกฎหมายที่จะสามารถนำมาพิจารณาดำเนินการต่อเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นธรรมต่อการประมูลข้าวครั้งนี้”

ด้านนายอธิษฐ์ พุ่มเข็ม ฝ่ายกฎหมาย บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทีโออาร์ของการเปิดระบายข้าวสต็อกรัฐบาล พบว่า ข้าวในกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน ต้องเป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตประกอบโรงงาน ร.ง. 4 โดยผู้ที่ได้รับข้าวในกลุ่มดังกล่าวไป จะต้องนำไปผลิต แปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน อีกทั้งเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และยื่นใบ ร.ง.4 เป็นต้องมีข้อมูลระบุชัดเจนถึง ใบอนุญาตมีอายุกำหนดใช้เมื่อไหร่ ประกอบกิจการเมื่อไหร่ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าววนเข้าอุตสาหกรรมคน

“อยากจะถามผ่านสื่อว่า ทำไมบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต ร.ง.4 ประกอบกิจการอุตสาหกรรม หลังวันยื่นประมูล ทำไมถึงได้รับการพิจารณาหรือไม่"