posttoday

ควักกองทุนหมู่บ้านซื้อหนี้นอกระบบช่วยรากหญ้า

14 สิงหาคม 2560

สทบ.จับมือคลังตั้งคณะทำงานเดินหน้าแผนใช้กองทุนหมู่บ้านซื้อหนี้นอกระบบเข้ามาบริหารช่วยบรรเทาภาระรากหญ้า

สทบ.จับมือคลังตั้งคณะทำงานเดินหน้าแผนใช้กองทุนหมู่บ้านซื้อหนี้นอกระบบเข้ามาบริหารช่วยบรรเทาภาระรากหญ้า

นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า สทบ. อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อจัดทำโมเดลแก้หนี้นอกระบบ ผ่านกลไกของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีอยู่ 79,595 แห่งทั่วประเทศ โดยมีนโยบายซื้อหนี้นอกระบบของชาวบ้านเข้ามาบริหารจัดการเอง เบื้องต้นจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เร่งจัดทำรายละเอียดของการช่วยเหลือออกมาให้ชัดเจน หลังจากนั้นเตรียมเสนอให้กับรัฐบาลพิจารณาได้เร็วๆ นี้

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว สทบ.ได้รับมอบนโยบายมาจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสั่งในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ สทบ.ไปคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำโมเดลแก้หนี้นอกระบบขึ้นมา โดยใช้กองทุนหมู่บ้านฯ ไปซื้อหนี้มาบริหารเอง เพราะปัจจุบัน สทบ.ยังมีความร่วมมือจากธนาคารของรัฐ ผ่านโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท จากการดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมามีกองทุนหมู่บ้านฯ กู้เงินดังกล่าวไปเพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงเหลือวงเงินกู้ที่สามารถนำไปซื้อหนี้นอกระบบได้เพียงพอ

ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงาน สทบ.ได้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยการประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้นอกระบบที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือต้องไปแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนของกระทรวงยุติธรรม จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเชิญเจ้าหนี้มาคุย และตรวจสอบสัญญาเงินกู้ที่ลูกหนี้ทำไว้กับเจ้าหนี้ เมื่อได้ข้อสรุปจะโอนหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ มาให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นเจ้าหนี้แทน เชื่อว่าการทำวิธีนี้จะช่วยตัดปัญหาของหนี้นอกระบบของผู้มีรายได้น้อยให้มาอยู่ในระบบมากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อกองทุนหมู่บ้านฯ ซื้อหนี้นอกระบบมาบริหารแล้ว ลูกหนี้ที่เข้ามาร่วมจะต้องได้รับการฝึกอาชีพ ผ่านโครงการต่างๆ ของ สทบ.ที่มีอยู่ เช่น โครงการสัมมาอาชีพ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับสมาชิก โดยให้สมาชิกผลิตสินค้าที่มีอยู่ในชุมชนออกมาขาย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะรับหน้าที่ดูแลด้านการตลาด ด้วยการรับซื้อสินค้าไปขายในร้านค้าประชารัฐ 19,270 แห่ง หรือขายในตลาดชุมชน 1,359 แห่งทั่วประเทศ จะทำให้ลูกหนี้มีเงินจากการขายของ แล้วก็นำเงินที่ได้ไปใช้หนี้กองทุนหมู่บ้านฯ ต่อไป

“คณะทำงานคงใช้เวลาไม่นานในการหารือและออกแนวทางออกมา อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะใช้กลไกกองทุนหมู่บ้านฯ เพราะกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นแหล่งทุนที่สำคัญของประชาชน แต่ก็ไม่ใช่จะให้ทุกกองทุนเข้าไปทำเองทั้งหมด จะดูเฉพาะกองทุนที่มีความพร้อม เพื่อไม่ให้เป็นภาระของกองทุนจนต้องได้รับผลกระทบ ขณะที่ลูกหนี้เองก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีการฝึกอาชีพให้จนสามารถตั้งตัวได้” นายนที กล่าว

นายนที กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะใช้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นกลไกสำคัญในการยกขีดความสามารถของเศรษฐกิจในระดับฐานราก ทั้งด้านการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสมาชิก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานชุมชนและการพัฒนาอาชีพ จึงมีนโยบายเร่งสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับกองทุน

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ นายสุวิทย์ ได้ให้ สทบ.หาแนวทางในการพัฒนาผู้ตรวจสอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านฯ ให้มีจำนวนเพียงพอและครอบคลุม จากปัจจุบันที่มีเพียง 300 กว่าคน ต้องตรวจสอบอยู่เกือบ 8 หมื่นกองทุน

ขณะเดียวกันยังเน้นการอบรมให้ความรู้ใน 4 เรื่อง ได้แก่ กฎหมาย โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุดเข้ามาให้ความรู้ การเงิน มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้ เรื่องไอที มีกระทรวงดิจิทัลให้ความรู้ และด้านธุรกิจ มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาให้ความรู้ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อการขับเคลื่อนเป็นแพ็กเกจเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ดี การให้ความรู้แก่กองทุนทั้ง 4 ด้าน จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในระดับฐานรากในทุกด้าน สามารถรองรับนโยบายของรัฐที่จะลงไปยังข้างล่างในอนาคต และทำให้ฐานรากเกิดความเข้มแข็ง