posttoday

บูมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ลงทุนแสนล้าน

14 สิงหาคม 2560

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ส.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงษ์

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ส.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพิจารณา โดยเฉพาะการขอรับการสนับสนุนด้านภาษีจากกระทรวงการคลัง

อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกชนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งไทยและต่างชาติ จำนวน 9 ราย ตอบรับลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คาดการณ์มูลค่าลงทุนปีแรกจะมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การเสนอ ครม.ครั้งนี้ หากยังไม่สามารถพิจารณาได้ก็เตรียมเสนออีกครั้งในการประชุม ครม.วันที่ 29 ส.ค.นี้

สำหรับสาระสำคัญของยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะมีการสนับสนุนด้านภาษีสรรพสามิตจากกระทรวงการคลัง โดยจะมีการกำหนดประเภทชิ้นส่วน จำนวนในการได้สิทธิทางภาษี ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุมกว้างขึ้น ซึ่งทั้งสองส่วนต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ให้ข้อมูลจะเหมาะสมกว่า แต่มั่นใจว่าเอกชนจะมีความพอใจแน่นอน

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่เน้นพัฒนาคนไทย จะมีการตั้งเครือข่ายพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนว่าหากลงทุนแล้วตลาดแรงงานจะรองรับเพียงพอ

อุตตม กล่าวว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อประเทศชาติ เพราะโลกปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตทุกอุตสาหกรรม และประเทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่น้อย หากไม่เร่งพัฒนาตอนนี้จะส่งผลต่อศักยภาพของประเทศ และอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ จนไม่สามารถพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงได้

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพิ่มเติมว่า มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทย กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการของอาเซียน มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง โดยปีแรก 2561 จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ระยะ 5 ปี (2561-2565) จะกระตุ้นให้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศอย่างน้อย 30% ของมูลค่าการนำเข้าที่มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท/ปี และโรงงานในประเทศอย่างน้อย 50% ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูง มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท และระยะยาว 10 ปี (2561-2570) ไทยมีเทคโนโลยีของตนเองและเกิดความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่

สำหรับกลไกเบื้องต้นที่จะผลักดัน เช่น มาตรการทางการตลาดด้วยการลดหย่อนภาษี และการใช้เงินทุนกองทุนต่างๆ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นหุ่นยนต์ ตลอดจนมีมาตรการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เช่น การลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการในประเทศด้วยการแก้ปัญหาความลักลั่นของอากรนำเข้าระหว่างสินค้าสำเร็จรูปและชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่นำเข้ามาผลิต การพิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเอกชน 9 ราย ประกาศลงทุนแน่นอนแล้ว แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสนับสนุนของรัฐ เช่น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย)