posttoday

พลังงานเร่งลงทุนแอลเอ็นจี

11 สิงหาคม 2560

พลังงานเตรียมลงนามเมียนมา สร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ 2 หมื่นล้าน รับแนวโน้มความต้องการใช้พุ่ง

พลังงานเตรียมลงนามเมียนมา สร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ 2 หมื่นล้าน รับแนวโน้มความต้องการใช้พุ่ง

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ที่ ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ กระทรวงพลังงานจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Agreement) หรือเอ็มโอเอ กับรัฐบาลเมียนมา เพื่ออนุญาตให้บริษัท ปตท.เข้าไปศึกษาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในรูปแบบคลังลอยน้ำที่เมืองกันบ๊อค เมียนมา ขนาด 3 ล้านตัน เงินลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำหนดส่งก๊าซภายในปี 2570

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2560 ได้รับทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว ซึ่งสถานการณ์การใช้พลังงานในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) จะเติบโตสูง

สำหรับแอลเอ็นจี ปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้นำเข้าหลัก และเร็วๆ นี้ที่ประชุม กพช.เปิดให้ผู้เล่นรายที่ 2 คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้าแอลเอ็นจีภายในปี 2561 ส่วนเอกชนรายอื่นคาดว่าจะเข้ามาในตลาดช่วง 2-3 ปี หลังจาก กฟผ.ดำเนินการนำเข้าแล้ว โดย กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษาเอสเอฟอาร์ยูภาคใต้ปริมาณ 5 ล้านตัน รองรับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 3 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แผนก่อสร้างล่าช้า

ปัจจุบันไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 3,550 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซื้อก๊าซจากเมียนมา 1,050 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และนำเข้าแอลเอ็นจีอีก 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน รวมปริมาณประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยปี 2565-2566 แหล่งเอราวัณและบงกชที่ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะหมดอายุสัมปทานลง ขณะเดียวกันปี 2566-67 แหล่งก๊าซในเมียนมาสัญญาจะทยอยหมดอายุเหลือก๊าซที่จะป้อน และแหล่งเจดีเอจะสิ้นสุดสัมปทานปี 2570 แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะต่อสัญญาเพื่อหาก๊าซมาป้อนไทยแน่นอน

นอกจากนี้ ปริมาณการใช้แอลพีจีในประเทศมีประมาณ 5 แสนตัน/เดือน คาดว่าปี 2564-2566 จะต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มอีก 5 หมื่นตัน คิดเป็นสัดส่วนนำเข้ารวม 20% และปี 2570 คาดว่าสัดส่วนนำเข้าจะเพิ่มเป็น 30% ขณะที่แอลเอ็นจีปัจจุบันนำเข้า 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือ 5 ล้านตัน คิดเป็น 10% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด คาดว่าปี 2564-2566 การนำเข้าแอลเอ็นจีจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็นสัดส่วน 40% และปี 2570 คาดว่าสัดส่วนนำเข้าจะเพิ่มเป็น 50-60%