posttoday

ลุ้นจีดีพีเกษตรโตแรง สศก.คาดปีนี้ขยายตัว4%

08 สิงหาคม 2560

สศก.เผยแนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรโตเกินเป้า หลังสองไตรมาสแรกส่งสัญญาณโต 11.5% รับปัจจัยหนุนปริมาณน้ำ-สภาพอากาศ

สศก.เผยแนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรโตเกินเป้า หลังสองไตรมาสแรกส่งสัญญาณโต 11.5% รับปัจจัยหนุนปริมาณน้ำ-สภาพอากาศ

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2560 (เม.ย.-มิ.ย.) ขยายตัว 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาพืชที่ขยายตัว 15.5% เป็นปัจจัยหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ขยายตัวได้ในระดับสูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากปริมาณน้ำ สภาพอากาศ และการดูแลฟาร์มของเกษตรกรที่ดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรแม้โดยรวมจะยังลดลง 1.9% แต่ปรากฏว่าดัชนีรายได้เกษตรกร ยังคงเพิ่ม 14.6% เนื่องจากมูลค่าการ ผลิตข้าวนาปรัง ยางพารา ทุเรียน มังคุด และเงาะ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลัก ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเติบโตในช่วงสองไตรมาสแรกของปี ทำให้ สศก. ประเมินว่าถึงสิ้นปีนี้จีดีพีในเกษตร อาจจะโตได้ถึง 4% สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 2.5-3.5% แม้ช่วงครึ่งแรกของปีสถานการณ์จะค่อนข้างดี ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ สศก.ยังคงประมาณการไว้ที่อัตราเดิม

"การเติบโตในระดับสูงของภาคเกษตร จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวม (จีดีพี) เป็นไปตามที่รัฐบาล ตั้งไว้ ซึ่งนอกจากผลผลิตสินค้าเกษตรแล้ว แรงหนุนการเติบโตยังจะมีส่วน ที่มาจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนของภาค เอกชน โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่าย จะเป็นแรงหนุนสำคัญของการโต" น.ส. จริยา กล่าว

น.ส.จริยา กล่าวว่า ด้านการขยายตัวภาคเกษตรรายสาขานั้น ในส่วนสาขา พืชขยายตัว 15.5% เนื่องจากปริมาณ ข้าวที่เพิ่มขึ้นมาก โดยในส่วนของ ข้าวนาปรังนั้นปี 2560 มีผลผลิต 3.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 3.53 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 137% ส่วนข้าวนาปีคาดว่า จะมีประมาณ 27-29 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ในส่วนนี้ยังต้องติดตามประเมินผล กระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญอีกครั้ง

ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 7,754 บาท/ตัน ลดลง 3.49% ของปี 2559 อยู่ที่ 8,034 บาท/ตัน

เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2560 สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ที่การส่งออก เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว ลำไย และผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์จากทุเรียน เงาะและผลิตภัณฑ์จากเงาะ และมังคุด ส่วนสินค้าพืช ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันปาล์ม ส่วนสินค้าพืชที่มี ปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา และน้ำตาลและผลิตภัณฑ์

ขณะที่สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวได้ 2% โดยผลผลิตหลัก ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับตามความต้องการของตลาด สำหรับสินค้าปศุสัตว์ที่ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ ไก่เนื้อ และน้ำนมดิบ ในขณะที่สุกรและไข่ไก่ราคาเฉลี่ยลดลง ส่วนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์โดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น การ ส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ขยายตัว เพิ่มขึ้นทั้งเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและ เนื้อไก่ปรุงแต่งไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์

นอกจากนี้ สาขาประมงขยายตัว 5.2% เป็นผลมาจากผลผลิตกุ้งทะเล เพาะเลี้ยงที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี คาดว่ากุ้งแวนนาไมจะเพิ่มเป็น 3 แสนตัน สูงกว่าที่เคยประมาณผลผลิตไว้ 2.5 แสนตัน แต่ราคาช่วงไตรมาส 2 ในส่วนของราคานั้น ปรากฏว่าทั้งกุ้งขาวแวนนาไมปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย ได้ปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิต ที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 6.5% จากการจ้างบริการ เตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น

ส่วนสาขาป่าไม้ขยายตัวประมาณ 2.3% ผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และครั่ง โดยการเพิ่มขึ้นของไม้ยางพารามีปัจจัยหลักมาจากการตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น