posttoday

ไทยจ่อซื้อไฟฟ้าเขมร หวังป้อนอีอีซี

03 สิงหาคม 2560

พลังงานเจรจาซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชา 2 แห่ง สตึงนัม-เกาะกง หวังป้อนพื้นที่ลงทุนตะวันออก ติงค่าไฟหน่วยละ 10 บาทสูงเกินไป เร่งสรุปรายละเอียดสิ้นปีนี้

พลังงานเจรจาซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชา 2 แห่ง สตึงนัม-เกาะกง หวังป้อนพื้นที่ลงทุนตะวันออก  ติงค่าไฟหน่วยละ 10 บาทสูงเกินไป เร่งสรุปรายละเอียดสิ้นปีนี้

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อไฟฟ้าจากประเทศกัมพูชาใน 2 แหล่ง ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็น 0.1% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 10 บาท/หน่วย ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูง แต่ไทยจะได้ทั้งไฟฟ้าและน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันยังมีการเจรจาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกงด้วย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดว่ามีความจำเป็นจะนำมาใช้ประโยชน์ในลักษณะใดคาดจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาภายในปลายปีนี้

"ต้องดูว่าจะยอมรับราคาที่ทางการกัมพูชาเสนอมาได้หรือไม่ เพราะมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟที่เรียกเก็บกับประชาชนอาจแพงขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่" พล.อ.อนันตพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังไม่มีการทบทวนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ในการผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอรองรับความต้องการใช้ในประเทศในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ปี 2558-2579 โดยยังคงเป้าหมายที่ไทยต้องการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจาก 67% เหลือ 40% ขณะที่มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 18% เป็น 40% และเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินจาก 17% เป็น 20-25%

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สำหรับการซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติต้องพิจารณาว่าผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นมีอะไรบ้าง แต่ขณะเดียวกันเชื่อว่าจะไม่กระทบผู้ประกอบการในอีอีซีมากนัก เนื่องจากอาจซื้อในอัตราที่เล็กน้อยเพียง 30 เมกะวัตต์ เท่านั้น

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กล่าวว่า ชธ.อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากฎหมายลูก 4 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ....  เพื่อรองรับการเปิดประมูลใน 2 แหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 ได้แก่ แหล่งเอราวัณและบงกช โดยชธ.ได้ดำเนินการร่างประกาศหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนต่างๆ ในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะประกาศทีโออาร์ในเดือน ก.ย.นี้ และคาดว่าจะได้ ผู้ชนะประมูลภายในไตรมาสแรก ปี 2561

นอกจากนี้ ชธ.ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับที่เหลือเพื่อรองรับการประมูลในรูปแบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) โดยคาดจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้