posttoday

ครม.อนุมัติมาตรการช่วยผู้ประกอบการ-ประชาชนประสบภัยน้ำท่วม

01 สิงหาคม 2560

ที่ประชุมครม.อนุมัติมาตรการช่วยผู้ประกอบการ-ประชาชนประสบภัยน้ำท่วม ทั้งเว้นภาษีค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-ลดหย่อนภาษีผู้บริจาค

ที่ประชุมครม.อนุมัติมาตรการช่วยผู้ประกอบการ-ประชาชนประสบภัยน้ำท่วม ทั้งเว้นภาษีค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย-สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-ลดหย่อนภาษีผู้บริจาค

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยมาตรการนี้ใช้เป็นกติกาเดียวกับที่ได้ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้เมื่อตอนต้นปี ดังนี้

1.มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยให้นำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไว้กับส่วนราชการ กองทุนบรรเทาสาธารณภัย หรือองค์กรสาธารณกุศลที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.-31 ต.ค.60 มาหักลดหย่อนรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ 1.5 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้สำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิสำหรับนิติบุคคล

2.มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ระหว่างวันที่ 5 ก.ค.-31 ต.ค.60 ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 1 แสนบาท และยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ระหว่างวันที่ 5 ก.ค.-31 ต.ค.60 ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 3 หมื่นบาท

3.โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติปี 2560 ซึ่งขยายผลจากพื้นที่ภาคใต้ในช่วงต้นปี โดยให้วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืม 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 คิด 3% ส่วนปีที่ 4-7 คิดตามที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กำหนด ซึ่งขณะนี้มีเงินเหลืออยู่ 3.5 พันล้านบาท โดยกำหนดให้ยื่นขอสินเชื่อได้ภายใน 6 เดือน หรือจนกว่าวงเงินจะเต็ม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ได้แก่

1.มาตรการด้านการคลัง กำหนดให้แต่ละจังหวัดมีวงเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจำนวน 50 ล้านบาท

2.มาตรการช่วยเหลือผู้ที่เช่าที่ดินราชพัสดุที่ประสบภัยพิบัติจะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี หากผลผลิตได้รับความเสียหาย

3.มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย

ภาพ...ประทวน ขจรวุฒินันท์