posttoday

ส่งออกยางไทยส่อแวววิกฤต

29 กรกฎาคม 2560

สศก.หวั่นอนาคตส่งออกยางไทยกระทบหลังยางเพื่อนบ้านเริ่มออกสู่ตลาด เตรียมวางทิศทางช่วยเกษตรกร

สศก.หวั่นอนาคตส่งออกยางไทยกระทบหลังยางเพื่อนบ้านเริ่มออกสู่ตลาด เตรียมวางทิศทางช่วยเกษตรกร

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ติดตามปริมาณผลผลิตยางพาราต่อเนื่อง เพื่อใช้วางแผนในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบในประเทศ เนื่องจากยางพาราไทย 4.4 ล้านตัน ส่งออกกว่า 90% หากเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้ามีปัญหาจะกระทบกับไทยโดยตรง ขณะที่ปัจจุบันพบว่า ประเทศ ผู้นำเข้าสำคัญมีการหาพื้นที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านของไทยเพื่อเป็นวัตถุดิบส่งกลับไปประเทศผู้นำเข้า

"การส่งออกยางมีตลาดสำคัญคือจีนกว่า 80% ของไทย ปัจจุบันจีนเริ่มไปหาพื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อปลูกและในปี 2559-2560 พบว่าเริ่มมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 1 แสนตัน คาดว่าจะมีปริมาณออกมาเพิ่มต่อเนื่องและจะส่งผลต่อปริมาณการ ส่งออกของไทยได้ ซึ่ง สศก.ต้องนำมาเป็นข้อมูลพิจารณาว่า หากในแต่ละปีการส่งออกของไทยไปจีนลดลงทุกปีๆ จะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อชี้แจงเกษตรกรให้เข้าใจ ซึ่งในอนาคตพื้นที่ยางต้องลดแน่นอน โดยจะส่งเสริมปลูกพืชอื่นแทน" น.ส.จริยา กล่าว

ทั้งนี้ สศก.คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีปริมาณผลผลิตผลิตยางพาราออกมาประมาณ 2.8-2.9 ล้านตัน จากครึ่งปีที่ผ่านมาออกมามีแล้วประมาณ 2.7 ล้านตัน โดยทิศทางราคายางพารามีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบโลกที่จะสูงกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐ

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางในประเทศ มีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มีการสนับสนุนการนำยางพาราไปใช้ในประเทศทั้งด้านงบประมาณ และ การบริหารจัดการนำยางไปใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยปริมาณความต้องการนำยางไปใช้งานในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งน้ำยางข้น ประมาณ 2.2 หมื่นตัน และยางแห้ง 3,300 ตัน สามารถดำเนินการ ใช้ยางพาราภายใต้งบปกติและงบเหลือ จ่าย ประจำปี 2560 ตลอดจนงบกลาง ที่ ครม.ได้อนุมัติวงเงินประมาณ 1,851 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในระยะยาวได้มอบหมายให้ กยท.ศึกษาและวิจัย เพื่อให้ได้ ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มีการนำยางไปใช้ในปริมาณมากขึ้น โดยจะสามารถ สรุปปริมาณความต้องการใช้ยางของ หน่วยงานราชการต่างๆ ปีงบประมาณ 2561 ได้ประมาณต้นเดือน ส.ค.นี้ พร้อมทั้ง จัดทำแผนบริหารจัดการยางพาราทั้ง ระบบที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดไว้

ล่าสุดสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล ได้คว้าใบอนุญาต มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางปูพื้น มอก.2377-2559 และภาคเอกชน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท เนเชอรัล เลเท็กซ์ แมทเทรส อินดัสตรี (ไทยแลนด์) และบริษัท ลาเท็กซ์ ซิสเท็มส์ ได้รับใบอนุญาตอุตสาหกรรมฟองน้ำ ลาเท็กซ์สำหรับที่นอน มอก.2747-2559 และฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอน มอก.2741-2559

ทั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืน และจะสร้างโอกาสทางธุรกิจในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบกิจการยาง

นายสุธา อินทร์ยอด รองประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.สตูล กล่าวว่า ได้รับเงินสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูป 30 ล้านบาท เพื่อนำมาก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางจากยางแผ่น รมควันเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่แปรรูปได้คือ แผ่นพื้นปูสนามกีฬา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสินค้าได้ประมาณ 300 แผ่น/วัน