posttoday

คมนาคมยันชงม.44 เลิกสัมปทานรถเมล์ ขีดเส้นจบภายในปีนี้

19 กรกฎาคม 2560

รมช.คมนาคม เผย กรมขนส่งฯ ชงใช้ ม.44 ยกเลิกสัญญาสัมปทานรถโดยสารประจำทาง ในเขตกทม. ขีดเส้นจบภายในปีนี้

รมช.คมนาคม เผย กรมขนส่งฯ ชงใช้ ม.44 ยกเลิกสัญญาสัมปทานรถโดยสารประจำทาง ในเขตกทม. ขีดเส้นจบภายในปีนี้

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมขนส่งทางบก (ขบ.) ได้เสนอรายละเอียดการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกสัญญาสัมปทานรถโดยสารประจำทาง ในเขตกรุงเทพฯ หรือหมวด 1ทั้งหมดทันที ขณะที่รถโดยสารหมวด1 สายต.1-158 รวมถึงรถหมวด4อย่างรถโดยสารไม่ประจำทางและรถสองแถวในกรุงเทพนั้นจะออกใบอนุญาตชั่วคราวอายุไม่เกิน2ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน ปัจจุบันเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเรียบร้อยแล้วตอนนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างแก้ไขรายละเอียดและข้อความให้เหมาะสม คาดว่าจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาในเร็วๆนี้  และสามารถออกคำสั่งมาตรา 44 ได้ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ขบ. เคยเสนอรายละเอียดการใช้อำนาจมาตรา 44 ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว แต่นายวิษณุสั่งให้แก้ไขรายละเอียดและนำกลับมาเสนอใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้านกระทรวงคมนาคมก็ต้องพิจารณาวิธีการยกเลิกสัมปทานเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสัมปทานเก่าและสัมปทานใหม่ โดยตนและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้หารือถึงมาตรการป้องกันกระทบต่อภาคประชาชนแล้ว

“มีความจำเป็นทางกฎหมาย เพราะถ้าไม่ใช้มาตรา 44 มันจะมีข้อผูกพันทางกฎหมายอยู่ระหว่าง ขสมก. และรถร่วมฯ แล้วมันจะเป็นอุปสรรคภายหลัง ส่งผลให้การปฏิรูปเส้นทางไม่ได้ แต่สำคัญที่สุดคือเมื่อใช้มาตรา 44 แล้ว ประชาชนต้องไม่เดือดร้อน ประชาชนที่ใช้เส้นทางเดิมจะต้องเดินทางได้และการเปลี่ยนผ่านจากเส้นทางเดินรถเดิมไปเส้นทางใหม่ต้องเป็นไปอย่างราบรื่น” นายพิชิตกล่าว

นายพิชิตกล่าวต่อว่าได้สั่งการให้ ขบ. จัดทำเส้นทางเดินรถโดยสารกลับมาเสนอใหม่ เนื่องจากสัมปทานเดินรถ 269 เส้นทางเดิม ไม่สอดคล้องนโยบายการให้รถเมล์เป็นขนส่งทางระบบรอง (Feeder) เชื่อมต่อกับระบบราง และยังไม่ได้คำนึงถึงโครงการรถไฟฟ้าและตำแหน่งสถานีรถไฟฟ้าที่ต้องเป็นตัวกำหนดแนวทางปฏิรูปเส้นทางเดินรถอีกด้วย

ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายว่า การออกใบอนุญาตเดินรถรอบใหม่จะต้องมีความยืดหยุ่นในแง่ระยะเวลาและเส้นทาง เพราะการเดินทางและตั้งถิ่นฐานของประชาชนจะต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ แล้วเสร็จ โดยสัมปทานรอบใหม่จะกำหนดระยะเวลากี่ปีก็ได้ แต่ไม่เกิน 7 ปี จากเดิมกำหนดตายตัวไว้อยู่ที่ 7 ปี ด้านเส้นทางก็ต้องปรับเปลี่ยนได้เพื่อตองสนองความต้องการของประชาชน