posttoday

พาณิชย์แจงปมถูกเอกชนกล่าวหาสองมาตรฐานตัดสิทธิ์ซื้อข้าวรัฐ

18 กรกฎาคม 2560

"พาณิชย์"เคลียร์ปมถูกเอกชนกล่าวหาสองมาตรฐานตัดสิทธิ์ซื้อข้าวรัฐ ชี้ทุกอย่างทำถูกต้องขั้นตอนตรวจสอบได้ ยันการระบายข้าวต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านไม่ใช่เฉพาะราคา

"พาณิชย์"เคลียร์ปมถูกเอกชนกล่าวหาสองมาตรฐานตัดสิทธิ์ซื้อข้าวรัฐ ชี้ทุกอย่างทำถูกต้องขั้นตอนตรวจสอบได้ ยันการระบายข้าวต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านไม่ใช่เฉพาะราคา

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีที่มีการอ้างว่ากรมทำหนังสือตัดสิทธิ์ประมูลข้าวบริษัททีพีเค เอทานอล จนมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยอ้างคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่าแบบฟอร์มหนังสือดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบราชการ ซึ่งกรมไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะขายข้าวให้กับรายใด แต่จะเป็นรูปของคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานนบข. มอบหมายพล.อ.ฉัตรชัย ในฐานะประธานรองประธานคสช.และรองประธานนบข. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบการะบายข้าวสต๊อกรัฐบาล กรมในฐานะคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลก็ทำตามนโยบายดังกล่าว

“หนังสือทุกฉบับจะมีการใช้ชื่อประธานนบข.มอบหมายให้รองประธานนบข.ในการพิจารณาการขายข้าว กรมก็ทำแบบฟอร์มหนังสือตามนั้น และก็มีการออกมาหลายร้อยฉบับ เพราะมีการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลจำนวนมาก และในการพิจารณาว่าจะขายก็เป็นในรูปคณะทำงาน กรมเป็นฝ่ายเลขานุการไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจในการเห็นชอบ จึงไม่อยากให้มีการนำเรื่องผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มและมาเสนอข่าวจนเป็นกระแสกระทบต่อภาพรวมของประเทศ เพราะยืนยันได้ถึงความโปร่งใสและมีขั้นตอนในการปฎิบัติ”นางดวงพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการอ้างถึงการตัดสิทธิ์บริษัททีพีเค เอทานอล ซึ่งเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน เพราะมีบางบริษัทที่ถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ไม่ถูกตัดสิทธิ์นั้น ยืนยันว่าการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลทุกครั้ง จะพิจารณาว่ามีกรรมการคนใดที่มีคดีอยู่กับภาครัฐหรือไม่ ซึ่งบริษัทที่ถูกอ้างถึงไม่มีชื่อของบุคคลที่ถูกป.ป.ช.กล่าวหา แต่หากตรวจสอบพบย้อนหลังก็สามารถตัดสิทธิ์ได้ อีกทั้งจากการตรวจสอบเบื้องต้นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงไม่ได้ถูกป.ป.ช.กล่าวหา แต่เป็นการกันไว้เป็นพยานในคดีทุจริตข้าวที่ป.ป.ช.สอบสวนอยู่

สำหรับกรณีของคลัง บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 หลัง 9 ที่มีผู้กล่าวอ้างว่าขายข้าวคุณภาพดีในราคาที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์นั้น มีข้อเท็จจริง คือ ในการประมูล ครั้งที่ 19 เมื่อเดือนก.ค. 2559 ได้นำข้าวปริมาณ 1.4 หมื่นตัน จำนวน 8 กอง (คุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน 2 กอง ที่เหลือไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน และมี 1 กอง เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวเน่า ขึ้นรา เกาะกันเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็น และมีฝุ่น)  มาประมูลขาย เป็นการขายทั่วไปและอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขข้าวคุณภาพดีขายทั่วไป ผู้ซื้อสามารถนำไปปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้ ส่วนข้าวที่ไม่เหมาะแก่การบริโภคผู้ซื้อจะต้องนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น จะไปใช้เพื่อการบริโภคไม่ได้ โดยมีมาตรการควบคุมการนำไปใช้อย่างเคร่งครัด ผลการประมูลปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาซื้อคิดเป็นราคา 11.25 บาท/กก. แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ราคาขั้นต่ำจึงไม่ได้รับอนุมัติให้ขาย

นางดวงพร กล่าวว่า หลังจากการประมูลครั้งนั้น นบข. ให้ชะลอการระบายข้าวทั้งหมด เนื่องจากเป็นช่วงที่ข้าวฤดูใหม่กำลังออกสู่ตลาด และเพื่อป้องกันผลกระทบด้านราคาต่อเกษตรกร ต่อมาในปี 2560 ได้จัดให้มีการประมูลครั้งที่ 23 เป็นการประมูลขายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ซึ่งไม่มีการแยกกองขาย แต่เป็นการขายแบบจัดกลุ่มยกคลังตามแนวทางการระบายตามมติ นบข. ครั้งที่ 1/2560 และข้าวในคลังของ บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 หลัง 9  ซึ่งมีข้าวคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน 2 กอง ที่เหลือไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน และมี 1 กอง เป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ  ข้าวเน่า ขึ้นรา เกาะกันเป็นก้อน มีกลิ่นเหม็น และมีฝุ่น จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือ เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน ซึ่ง บจก.กาญจนาอาหารสัตว์ เป็นผู้ประมูลได้ในราคากิโลกรัมละ 6.10 บาท

อย่างไรก็ดี การดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกจำนวนมหาศาลจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นภาระที่รัฐบาลชุดนี้ต้องดำเนินการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายจากงบประมาณของรัฐในการจ่ายเป็นค่าเก็บรักษา ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวในสต๊อกเสียหายไปมากกว่านี้ รวมทั้งไม่ให้มีข้าวในสต๊อกมากดทับตลาด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาข้าวที่ชาวนาจะได้รับ ในช่วงแรก นบข.จึงได้พยายามที่จะให้สามารถระบายข้าวโดยให้รัฐได้ราคาสูงสุด แต่หลังจากดำเนินการได้ระยะหนึ่งก็ปรากฏชัดว่าเรื่องราคาข้าวที่ได้รับไม่ใช่ประเด็นหลักสำคัญในการตัดสินใจระบาย เนื่องจากปริมาณข้าวในสต๊อกที่มีมากล้นตลาด คุณภาพข้าวที่มีปัญหาและเสื่อมสภาพ

“เมื่อเริ่มระบายข้าวตันแรกก็ขาดทุนแล้ว เนื่องจากต้นทุนที่จำนำไว้ข้าวขาว 2.2-2.3 หมื่นบาท/ตัน ข้าวหอมมะลิตันละประมาณ 2.8-2.9 หมื่นบาท/ตัน แต่ประเด็นสำคัญคือจะต้องคำนึงถึงช่องทางระบายและการนำข้าวไปใช้ที่จะต้องไม่กระทบต่อตลาด สุขอนามัยของมนุษย์และสัตว์ ชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทย เพื่อให้สภาพการค้าข้าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเป็นไปตามกลไกตลาดโดยเร็ว”นางดวงพร กล่าว

ด้านกรณีที่มีผู้เสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปเปิดคลังตรวจคุณภาพข้าวใหม่นั้น จนถึงปัจจุบันนี้เลยขั้นตอนดังกล่าวมานานแล้ว เพราะได้มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวมาตั้งแต่ปี 2557 ผลการตรวจสอบก็เป็นที่รับทราบต่อสาธารณชนและก็เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอยู่แล้วในขณะนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการตามที่เสนอ