posttoday

ขนส่งยันยังไม่มีการปรับขึ้นค่ารถตู้ทุกเส้นทาง

14 กรกฎาคม 2560

กรมการขนส่ง ยันยังไม่มีการปรับขึ้นค่ารถตู้โดยสารทุกเส้นทาง ขู่ใครฝ่าฝืนปรับอัตราสูงสุดทุกกรณี

กรมการขนส่ง ยันยังไม่มีการปรับขึ้นค่ารถตู้โดยสารทุกเส้นทาง ขู่ใครฝ่าฝืนปรับอัตราสูงสุดทุกกรณี

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่านับตั้งแต่กรมการขนส่งทางบก ได้บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการและเจ้าของรถตู้โดยสารทุกคันต้องปรับปรุงแก้ไขการจัดวางที่นั่งผู้โดยสารในรถตู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทให้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะนั้น พบว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการรถตู้บางรายบางเส้นทางเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 5 บาท กรมการขนส่งทางบกขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถตู้โดยสารสาธารณะในทุกเส้นทางแต่อย่างใด ดังนั้น หากตรวจสอบพบการนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาใช้งาน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัย การเดินรถไม่เป็นไปตามจำนวนเที่ยว รวมทั้ง “การเก็บค่าโดยสารเกินราคา” หรือการกระทำผิดอื่นๆ พิจารณาลงโทษขั้นสูงสุดในทุกกรณีความผิด พร้อมบันทึกประวัติการกระทำความผิด เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบการขนส่ง หรือใบอนุญาตขับรถ นอกจากนี้ ยังยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามคำสั่ง คสช.ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ นอกจากโทษปรับสูงสุดตามกฎหมายแล้ว สามารถสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ในกรณีการฝ่าฝืนไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถ ปล่อยให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินหรือเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด ซึ่งมาตรการดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกได้กำชับให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกับคณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ตรวจและจับกุมรถตู้โดยสารทุกคัน ทุกเส้นทาง ทั้งระหว่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกขอขอบคุณผู้ประกอบการขนส่งที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการปรับปรุงจำนวนที่นั่ง นำรถเข้ารับการตรวจสภาพและแก้ไขรายการทางทะเบียนตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 90% จากจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะทั้งหมด

นายสนิท กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารนั้น ด้านกรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดปรับปรุงอัตราค่าโดยสารให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงที่ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องใช้ในการบริหารการเดินรถได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างที่ปรึกษาที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการและเป็นหน่วยงานกลาง สำหรับรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร ให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน ก่อนเสนอพิจารณาเชิงนโยบาย ควบคู่การสร้างการยอมรับ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ การประชาสัมพันธ์ ทุกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนให้ทราบโดยทั่วกันก่อนที่จะประกาศกำหนดจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อนำไปใช้กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถบริหารการเดินรถได้อย่างมีคุณภาพและมีความปลอดภัย

นายสนิท กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อยกระดับความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการเดินทางด้วยรถสาธารณะของประชาชนให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ได้ดำเนินการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยดำเนินการยกระดับทุกมาตรการตามแผนปฏิบัติการร่วมมาโดยตลอด อาทิ การติดตั้ง GPS Tracking และเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสร้างระบบการติดตามพฤติกรรมการขับขี่แบบเรียลไทม์และการควบคุมแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาครัฐและผู้ประกอบการ ซึ่งรถโดยสารสาธารณะทุกคันจะติดตั้งครบถ้วนภายในปี 2560 และรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 (เส้นทางกรุงเทพ-ต่างจังหวัด) ทุกคันต้องติดตั้งให้ครบถ้วนทุกคันภายใน 31 มีนาคม 2560 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 ติดตั้ง GPS ครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังมีแนวทางในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในอนาคตเพื่อความยั่งยืน เช่น โครงการศึกษาความปลอดภัยในการใช้รถตู้โดยสารประจำทาง ซึ่งจากผลการศึกษาที่เสนอให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กแทนรถตู้โดยสารซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างพิจารณาแผนดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายโดยตรง และโครงการศึกษาการพัฒนาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง โดยพิจารณาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการ และแนวทางการอุดหนุน (Subsidy) ทั้งนี้ ทุกมาตรการ โครงการที่กรมการขนส่งทางบกเร่งดำเนินการจะเป็นการส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคนทุกพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้หากประชาชนพบรถตู้โดยสารสาธารณะให้บริการไม่ปลอดภัย บรรทุกเกิน เก็บค่าโดยสารเกิน สามารถแจ้งกับผู้ตรวจการขนส่งทางบกได้โดยตรง หรือร้องเรียนผ่านสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

ภาพประกอบข่าว