posttoday

ชงรถไฟไทย-จีนเข้าที่ประชุมครม.11ก.ค.นี้

10 กรกฎาคม 2560

คมนาคมเตรียมเสนอโครงการรถไฟไทย-จีนเข้าที่ประชุมครม.สัปดาห์นี้ เร่งจัดสอบวิศวกรจีนภายในเดือนหน้า

คมนาคมเตรียมเสนอโครงการรถไฟไทย-จีนเข้าที่ประชุมครม.สัปดาห์นี้ เร่งจัดสอบวิศวกรจีนภายในเดือนหน้า

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนช่วงกรุงเทพ-โคราช วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทภายหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะทำงานไทย-จีนครั้งที่ 19 ที่กรุงปักกิ่งนั้นผ่านไปได้ด้วยดี มีการพูดคุยหารือกันหลายเรื่องจนได้ข้อสรุปบ้างแล้ว ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถเสนอรายละเอียดภาพรวมโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ภายในการประชุมในวันอังคารนี้ ( 11 ก.ค.)

สำหรับประเด็นการออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม(ก.ว.)ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านกฎหมายนั้นเบื้องต้นทางฝ่ายจีนยอมรับในหลักการเงื่อนไขการเข้าอบรมและทดสอบความชำนาญแล้วโดยไม่มีการคัดค้านแต่อย่างใด ดังนั้นคาดว่าประเทศไทยจะเริ่มทยอยจัดอบรมและทดสอบข้อเขียนให้กับบุคลากรจีนได้ในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนของโครงการที่จะต้องเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ย.นี้ โดยจะแบ่งการจัดทดสอบเป็นชุดๆไปยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะแบ่งเป็นกี่ชุดและมีจำนวนบุคลากรที่ต้องสอบทั้งหมดเท่าไหร่เลยยังบอกไม่ได้ว่าจะสามารถดำเนินการทดสอบทั้งหมดให้แล้วเสร็จทันปีนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตามขณะนี้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกอยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรอบรม แบ่งเป็นการอบรมบุคลากรวิศวกรจำนวน 3 วัน และการอบรมบุคลากรสถาปัตย์จำนวน 2 วัน ก่อนเข้าสู่การทดสอบข้อเขียนซึ่งกำหนดเกณฑ์สอบผ่านไว้ที่ 60 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากครม.มีมติเห็นชอบโครงการกระทรวงคมนาคมจะเร่งเดินหน้า การก่อสร้างตอนที่ 1 จากสถานีกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ตามเป้าทีได้ตั้งเอาไว้คือภายในเดือนก.ย.นี้ ก่อนดำเนินการก่อสร้างช่วงต่อๆไปได้แก่ ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กิโลเมตร จนครบทั้ง 4 ช่วง รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนของงานโยธาซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการนั้น เนื่องจากจะใช้การประกวดราคาเพื่อหาผู้รับจ้างในประเทศ แหล่งเงินกู้ในส่วนดังกล่าวจึงเป็นแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ ส่วนงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากจีน ได้แก่ การออกแบบ การควบคุมงานก่อสร้าง งานระบบและการฝึกอบรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมยังได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรม โดยกำหนดให้มีบุคลากรไทยปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการออกแบบรายละเอียด สัญญาการความควบคุมงานก่อสร้าง และสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ตามข้อตกลงเอ็มโอยูที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกันไปแล้ว ประกอบกบัก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้มีการส่งบุคลากรไปดูงานในประเทศจีนแล้วกว่า 250 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของ รฟท. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ไปแล้วกว่า 60 คน รวมทั้งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการส่งอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำอาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยรังสิต กว่า 20 คน