posttoday

มาตรา 44 ต้องใช้ให้คุ้มค่า ผ่อนผัน 180 วันแรงงานต่างด้าว

10 กรกฎาคม 2560

ปัญหา พ.ร.ก.ทำงานของคนต่างด้าว นัยว่าออกมาเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เข้าที่เข้าทาง

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ปัญหา พ.ร.ก.ทำงานของคนต่างด้าว นัยว่าออกมาเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เข้าที่เข้าทาง แต่กลับกลายเป็นกฎหมายทำให้เกิดการระส่ำระสายสร้างความโกลาหลให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแรงงานนับแสนคนเผ่นหนีกลับบ้านซ้ำร้ายถูกเจ้าหน้าที่รีดไถรายทาง กลายเป็นข่าวขายหน้าทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จน คสช.งัดมาตรา 44 ออกมาผ่อนผันการบังคับใช้บางมาตราที่เกี่ยวกับค่าปรับสูงเกินเหตุ รวมทั้งโทษอาญาเอาผิดกับแรงงานต่างด้าวโดยเลื่อนออกไปจนถึงสิ้นปี

กรณีของกฎหมายฉบับนี้ทำให้ทราบถึงความสำคัญของแรงงานต่างด้าว ทำให้ต้องหันกลับมาทบทวนวิธีการในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 ขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพึ่งพาแรงงานต่างชาติในสัดส่วนที่สูงกว่าที่คาด ขณะที่ภาคก่อสร้างระบุว่ากระทบอย่างรุนแรง ในภาคประมงซึ่งมีการจัดระเบียบก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้กระทบแรงงานไปถึงฟาร์มสัตว์น้ำและปศุสัตว์ต่างๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำล้วนแต่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

ต้องยอมรับว่าแรงงานของไทยลดน้อยถอยลงทั้งจากแรงงานสูงอายุซึ่งประเมินว่าแรงงานทั้งระบบครึ่งหนึ่งมีอายุเกิน 45 ปี แรงงานรุ่นใหม่นอกจากเรียนสูงแล้วยังเป็นพวก “Gen Z” มีทางเลือกที่ดีกว่าในการหางานแบบสบายๆ ปฏิเสธงานจำพวกเงินน้อยแต่งานหนัก-เหนื่อย-ร้อน-เหม็น-เสี่ยง-สกปรก งานพวกนี้หาคนไทยทำแทบไม่ได้ เช่น แรงงานกรีดยางในภาคใต้ แรงงานตัดอ้อย แรงงานในไร่ในสวน แม้แต่แรงงานในครัวเรือนพวกคุณแจ๋วทั้งหลายส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

แรงงานต่างด้าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้จะใส่หัวโขนจะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลหรือเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ แต่เนื้อในครึ่งหนึ่งของไทยเป็นสังคมเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 70 ล้วนเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น เด็กรุ่นใหม่เลือกที่จะตกงานมากกว่าทำงานที่ต้องออกแรงมากๆ และดูไม่เท่ ทำให้การขาดแคลนแรงงานระดับล่างเป็นวิกฤตของชาติ ซึ่งแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างทำให้เศรษฐกิจของเอสเอ็มอียังพอขับเคลื่อนได้

แรงงานข้ามชาติหรือ “Immigrant Labours” เป็นปัญหาเรื้อรังมาช้านาน หลายรัฐบาลพยายามเข้ามาจัดระเบียบเพื่อทำให้ถูกต้อง แต่ตัวเลขแรงงานถูกกฎหมายหรือ MOU ปัจจุบันมีเพียง 4.12 แสนคน และมีแรงงานผิดกฎหมายซึ่งรัฐบาลนำมาขึ้นทะเบียนผ่อนผันให้ทำงานได้ชั่วคราวหรือที่เรียกว่าบัตรสีชมพูมีถึง 8.55 แสนคน พวกนี้เร่ร่อนเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ ควบคุมกันแทบไม่ได้ ยังไม่รวมแรงงานที่หลบๆ ซ่อนๆ ไม่มีเอกสารใดๆ คาดว่าจะมีไม่เกิน 1 ล้านคน ประเด็นที่ต้องมาทบทวนว่าทำมากันเนิ่นนานเป็น 10 ปี แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันอย่างน้อยขึ้นทะเบียนถึง 4 ครั้ง ทำไมจึงมีแรงงานถูกกฎหมายได้เท่านี้ คงต้องมีปัญหาทางเทคนิค หากแก้ได้ง่ายๆ เรื่องคงจบไปนานแล้ว หรือมีการเปิดช่องให้มีผลประโยชน์ซึ่งประเมินว่าแต่ละปีเป็นหลักไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท

ก่อนอื่นเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.บริหารจัดการทำงานคนต่างด้าว เนื่องจากกฎหมายเดิมกระจัดกระจายอยู่หลายฉบับ แต่ที่ต้องติติงกันเพราะออกมาแบบไม่ให้ตั้งตัว หลายมาตราหากบังคับใช้ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบแน่นอน ที่สำคัญลามไปถึงเกษตรกร ภาคท่องเที่ยว และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเด็นระวางค่าปรับหลายมาตรา เช่น 102, 122 และอีกหลายมาตราค่าปรับสูงสี่แสนบาทถึงแปดแสนบาทอันนี้โหดร้ายเกินไป ค่าปรับควรจะเป็นการปรามไม่ให้นายจ้างกระทำผิด ไม่ใช่ปรับเอาจนถึงขั้นปิดกิจการเรียกว่าเอากันถึงตาย อีกทั้งยังเปิดช่องให้มีการทุจริตสูงขึ้นเพราะผลประโยชน์คุ้มค่าที่เจ้าหน้าที่เขาจะเสี่ยง

สำหรับเหตุผลที่อ้างว่าค่าปรับที่เก็บสูงไปเทียบเคียงกับการค้ามนุษย์ ต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องเพราะแรงงานที่เข้ามารับจ้างในสถานประกอบการเป็นการสมัครใจ นายจ้างได้งาน ลูกจ้างได้เงิน เศรษฐกิจของประเทศทั้งส่งออกการบริโภคขยายตัว และรัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น ทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์ไม่ได้เกิดจากการบังคับจึงไม่ควรนำไปปะปนกับการค้ามนุษย์ ทางที่ดีแรงงานที่ผิดกฎหมายนำมาวางไว้บนโต๊ะให้โปร่งใส ควบคุมได้ทั้งด้านความมั่นคงและตัดปัญหาเรื่องการรีดไถซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศ ประเด็นคือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นโจทย์ตรงกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต้องให้เครดิตรัฐบาลที่เข้าใจปัญหา แต่มาตรา 44 ที่ออกมาเป็นเพียงการบรรเทาเหมือนยาแก้ปวดยืดเวลาออกไปจนถึงสิ้นปี ระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 180 วัน ทุกฝ่ายจึงต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาต้องสมดุลระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติกับความมั่นคงของประเทศ แต่ถ้ายังใช้รูปแบบเดิมๆ เหมือนที่ใช้มาก่อนหน้านี้หลายปีคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ช่วงรอยต่อต้องมีระยะเวลาของการก้าวผ่าน...เรื่องพวกนี้สั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ครับ

แรงงานต่างด้าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้จะใส่หัวโขนจะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลหรือเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ แต่เนื้อในครึ่งหนึ่งของไทยเป็นสังคมเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 70 ล้วนเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น