posttoday

ผุดนิคมฯบิน2พันไร่

08 กรกฎาคม 2560

เอกชนขานรับรัฐปั้นอู่ตะเภาฮับแอโรสเปซ คาดลงทุนอีอีซีดันจีดีพีโต4.5%

เอกชนขานรับรัฐปั้นอู่ตะเภาฮับแอโรสเปซ คาดลงทุนอีอีซีดันจีดีพีโต4.5%

โพสต์ทูเดย์ - ดับบลิวเอชเอเดินหน้าปั้นนิคมกลุ่มแอโรสเปซรับนโยบายรัฐ ดันไทยศูนย์กลางการบินและอวกาศ

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า เตรียมนำที่ดินนิคมอุตสาหกรรม 2,000 ไร่ จากจำนวนที่ยังไม่ได้ขาย 1.1 หมื่นไร่ และอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภามากที่สุด มารองรับการทำนิคมอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ (แอโรสเปซ) สอดคล้องแนวทางรัฐบาลที่ต้องการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแอโรสเปซ

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวน่าจะพอรองรับอุตสาหกรรมแอโรสเปซ เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายน่าจะใช้พื้นที่ไม่มาก รายละแค่ 30-40 ไร่ ไม่เหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้รายละกว่า 100 ไร่

ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการกลุ่มแอโรสเปซมาหารือและเยี่ยมชมพื้นที่แล้วหลายราย กลุ่มนี้สนใจลงทุนในไทยนานแล้ว เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานพร้อม แต่ที่ผ่านมาไทยขาดการส่งเสริมที่ชัดเจน เมื่อไทยส่งเสริมชัด เช่น ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ไม่จำกัดแค่ 49% เหมือนในอดีต รวมถึงมีสิทธิประโยชน์จูงใจอื่น จึงต้องการเลือกไทยเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน รวมถึงผลิตอะไหล่ ส่วนผู้ประกอบการรายเดิมในนิคมอุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์มาก่อนก็ตื่นตัวมากขึ้น เพื่อยกระดับไปสู่การผลิตชิ้นส่วนแอโรสเปซ

“20 ปีข้างหน้า การส่งมอบเครื่องบินทั่วโลก 1 ใน 3 ส่งมอบในเอเชีย ดังนั้นความต้องการศูนย์ซ่อมและอะไหล่ต้องตามมา ซึ่งผู้ประกอบการแอโรสเปซก็มองทำเลที่ตั้งไทยควรเป็นศูนย์กลางแอโรสเปซ” น.ส.จรีพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายคือการเตรียมพร้อมบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมแอโรสเปซ ที่ผ่านมาดับบลิวเอชเอทำต่อเนื่อง เช่น เข้าไปร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันไทย-เยอรมัน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมเหมราช ตั้งเป้าหมายผลิตแรงงานที่มีทักษะตามหลักสูตร 1 แสนคน/ปี ปัจจุบันหลังเปิดโครงการแล้ว 8 เดือน มีบุคลากรที่ผู้ประกอบการในนิคมส่งเข้าร่วมฝึกอบรมแล้วกว่า 7 หมื่นคน

ขณะที่หลักสูตรฝึกทักษะที่ดำเนินการไปแล้วมี 20-30 หลักสูตร เช่น ทักษะเพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรที่เคยผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้สามารถยกระดับไปสู่การผลิตชิ้นส่วนแอโรสเปซได้ การฝึกทักษะให้คนบังคับใช้หุ่นยนต์ทำงาน เป็นต้น

น.ส.จรีพร กล่าวว่า หากโครงการอีอีซีเกิด ความต้องการแรงงานเติบโตขึ้นมากแน่นอน และจะช่วยให้คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ปกติโตปีละ 3.2-3.6% อาจโตได้ถึง 4.5-4.6% จากอีอีซี ซึ่งการที่จีดีพีขยับขึ้นกว่า 1% ถือว่ามาก และจากกรณีที่รัฐบาลวางงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี 5 ปี ไว้ 1.5 ล้านล้านบาท และล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพิ่งอนุมัติโครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน 4 โครงการ มูลค่าเกือบ 7 แสนล้านบาท ก็เป็นภาพที่สะท้อนความต้องการแรงงานเติบโตได้ชัดเจน