posttoday

สศช.ระดมความเห็นทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนฯ12

03 กรกฎาคม 2560

สศช.ระดมความเห็นทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนพัฒนาศก.-สังคมฉบับ 12 เผยการพัฒนา 5 ปีตามแผนฯ11 จีดีพีโตได้ 3.41%

สศช.ระดมความเห็นทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนพัฒนาศก.-สังคมฉบับ 12  เผยการพัฒนา 5 ปีตามแผนฯ11 จีดีพีโตได้ 3.41%  

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี  2560 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) เรื่อง "ขับเคลื่อนแผนฯ 12 สู่อนาคตประเทศไทย"

นายปรเมธี วิมลศิริ  เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า  เนื่องจากปี 2560  เป็นปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  12 (พ.ศ.2560-2564) และเป็นปีที่ยังอยู่ในช่วงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) ประเด็นการสัมมนาจึงเน้นการเป็นเวทีสร้างความรับรู้และเข้าใจในแนวคิดประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ รวมถึงการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนในแผนฯ 12 กับยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ แผนฯ 12 ประกอบไปด้วย10 ยุทธศาสตร์ แต่ครั้งนี้ สศช. ได้หยิบประเด็นสำคัญที่สุด 6 ประเด็ฯ มาระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพคนไทย การพัฒนานวัตกรรม เกษตรกรยุคใหม่  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ภาครัฐดิจิทัล และ การพัฒนาพื้นที่ ภาคและเมือง 

"สศช.จะนำความคิดเห็นประเด็นการพัฒนาสำคัญในมิติต่างๆ ไปเป็นแนวทางในการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดการแปลงแผนพัฒนาฯ สู่การปฏิบัติและเกิดผลสัมฤทธิ์สำหรับการเริ่มต้น 5 ปีแรกของแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นายปรเมธี กล่าว   

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สำหรับผลการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) พบว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้น เศรษฐกิจไทค่อยๆ ฟื้นตัวโดยผลิตภัณพ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัว 7.3% ในปี 2555 และชะลอลงเป็น 0.80% ในปี 2557 ก่อนจะขยายตัว 3.2%  ในปี 2559  โดยมีอัตราการเติบโตตลอดแผนอยู่ที่ 3.41%  โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักคือการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคครัวเรือน ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวเฉลี่ย 2.8%

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเงินเฟ้อติดลบ 0.9%ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 0.2% ในปี 2559 เนื่องจากราคากพลังงานในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและปรับัวสุงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.27% ตลอดแผนฯ 11 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3.5%

อย่างไรก็ตาม จีดีพีสาขาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 15.8% ในปี 2555 เป็น 13.5% ในปี 2558 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ไม่ต่ำกว่า 16%  ขณะมูลค่าภาคบริการได้ขยายตัวต่อเนื่องจาก 60.35% ในปี 2555  เป็น 64.24% ในปี 2559  ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหมาย

ส่วนค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 0.37% ต่อจีดีพีในปี 2554 เป็น 0.62% ในปี 2558  ยังไม่สามารถเป้าหมายที่ต้องไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพี  แต่สัดส่วนการลงทุนวิจัยโดยเอกชนต่อภาครัฐอยู่ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่28  ในปี 2559 จากอันดับที่ 30 ในปี 2558 ซึ่งยังคงไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการขยับขึ้นไปอยู่อันดับที่16  ด้านสัดส่วนต้นทุนโลกจิสติกส์ต่อจีดีพีลดลงจาก 14.41 ในปี2555 เป็น 13.86% ในปี2559  เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดว่าไม่เกิน15% ของจีดีพี

นายปรเมธีกล่าวว่าการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นจากการจัดอันดับความสามารถการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดย World Economic Forum (WEF) พบว่าไทยมีคะแนนรวมสูงขึ้นจาก 4.2 คะแนนในปี 2558 เป็น 4.4 คะแนนในปี 2559 อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกนั้นไทยอยู่ในอันดับที่ต่ำลงจากอันดับที่ 19 จาก 183 เขตเศรษฐกิจในปี 2554 มาเป็นอันดับที่ 49 จาก 189 เขตเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 9 ของเอเชียและอันดับที่ 3 ของอาเซียนในปี ปี 2559

การใช้สิทธิประโยชน์จากการตกลงทางการค้าเสรีต่อมูลค่าการส่งออกรวมมีสัดส่วนลดลงจาก 72.21% ในปี 2558 เป็น 56.47% ในปี 2559 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่อมูลค่าการส่งออกรวมเป็น 50% ในปี 2559 อัตราการเติบโตของมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านได้แก่  มาเลเซีย เมียนมา  ลาวและกัมพูชายังไม่บรรลุเป้าหมายอย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในประเทศเพื่อนบ้านบรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้การลงทุนโดยตรงของไทยในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต้องขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี