posttoday

ปั้นไทยฮับผลไม้โลก

26 มิถุนายน 2560

“สนธิรัตน์” เดินหน้ายุทธศาสตร์ผลไม้เมืองร้อน คาด 2-3 เดือนแล้วเสร็จ ตั้งเป้าไทยเป็นฮับตลาดการค้าผลไม้โลก

“สนธิรัตน์” เดินหน้ายุทธศาสตร์ผลไม้เมืองร้อน คาด 2-3 เดือนแล้วเสร็จ ตั้งเป้าไทยเป็นฮับตลาดการค้าผลไม้โลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในศึกษาจัดทำยุทธศาสตร์ผลไม้เมืองร้อน โดยคาดว่าแผนจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ ป้องกันราคาผลไม้ตกต่ำในระยะยาว อีกทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้านผลไม้ และเป็นศูนย์กลางการค้า (ฮับ) ผลไม้ของโลก หรือฮับผลไม้เมืองร้อน เบื้องต้นจะเริ่มผลักดันผลไม้ที่มีศักยภาพของไทยจำนวน 10 ชนิด อาทิ ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด และลำไย เป็นต้น

“ปัจจุบันไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกผลไม้รายใหญ่ของโลก แต่ยังขาดเทคโนโลยี นวัตกรรม ในการจัดการผลผลิต อีกทั้งเกษตรกรยังขาดความรู้ในการผลิตให้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะส่วนใหญ่จะเลือกปลูกผลไม้ตามกระแสตลาด เช่น สองสามปีที่ผ่านมาทุเรียนมีราคาสูงมากเพราะผลผลิตออกมาน้อย เกษตรกรที่เคยปลูกยางพาราก็จะตัดต้นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียน ทำให้ปีนี้ผลผลิตทุเรียนออกมามากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 30% แต่โชคดีที่ราคาไม่ตกต่ำ เพราะตลาดจีนยังมีความต้องการสูง”นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในกรณีของทุเรียน หากอนาคตพื้นที่การปลูกผลไม้มีมากขึ้น ผลผลิตก็จะออกมามากขึ้น ส่งผลต่อราคาที่ลดลงตามปริมาณการล้นตลาด ดังนั้นหากไม่มีการจัดทำยุทธศาสตร์ผลไม้ ปัญหาราคาตกต่ำก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่หากกระทรวงเริ่มต้นมองการพัฒนาในระยะยาว โดยการทำแผนยุทธศาสตร์กำหนดการพัฒนาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม นอกจากจะสามารถพยุงราคาผลไม้ให้คงที่ ยังจะทำให้ไทยเป็นผู้กำกับทิศทางผลไม้โลกในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า ผลไม้ต้นฤดูในพื้นที่ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ปี 2560 ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยมีผลผลิตรวม 7.77 แสนตัน เพิ่มขึ้น 37.17% เทียบกับปี 2559 ที่มีจำนวน 5.62 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.08 แสนตัน ซึ่งเกิดจากปัจจัยราคาในปีที่ผ่านมาจูงใจเกษตรกรดูแลรักษาผลผลิตดี อีกทั้งในปีนี้สภาพอากาศยังเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับปริมาณการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2556–2558) พบว่ามีปริมาณความต้องการสูงถึง 2.3 ล้านตัน