posttoday

"สามารถ" เผยเหตุทำไมจีนไม่ร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูง

25 มิถุนายน 2560

สามารถ ราชพลสิทธิ์ ตั้งคำถาม รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช จีนไม่ยอมร่วมลงทุนจริงหรือ?

สามารถ ราชพลสิทธิ์ ตั้งคำถาม รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช จีนไม่ยอมร่วมลงทุนจริงหรือ?

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึง การที่จีนไม่ยอมร่วมลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง 'กรุงเทพ-โคราช' ร่วมกับไทย

เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้

รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช จีนไม่ยอมร่วมลงทุนจริงหรือ?

เมื่อคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ผมได้ชมและฟังการให้สัมภาษณ์ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เรื่องรถไฟความเร็วสูง “ม.44”? ไฮสปีดเทรน “ไทย-จีน” (ตอน 2) จับความได้ว่าจีนไม่ยอมร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหนก็ตาม จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจลงทุนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเองทั้งหมด 100%

คำตอบนี้เป็นคำตอบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง กล่าวคือ การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้ดำเนินมาหลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ในเดือนธันวาคม 2557 โดยเริ่มประชุมครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2558 ที่กรุงเทพฯ จนถึงการประชุมครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถไฟที่สถานีเชียงรากน้อยในวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องสัดส่วนการลงทุน โดยได้

ข้อสรุปว่าทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไทย-จีน เพื่อลงทุนใน

(1) ระบบรถไฟ รวมถึงการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา

(2) การจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม

ทั้งนี้ ฝ่ายจีนจะร่วมลงทุนเป็นสัดส่วน 40% และฝ่ายไทย 60% อนึ่ง บริษัทร่วมทุนไทย-จีนนี้จะไม่ร่วมลงทุนงานโยธา ซึ่งฝ่ายไทยจะรับผิดชอบลงทุนงานโยธาเองทั้งหมด

นั่นเป็นผลจากการเจรจาของคณะกรรมการร่วมฯไทย-จีนตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งที่ 9 ซึ่งชี้ชัดว่าฝ่ายจีนจะร่วมลงทุนในงานระบบรถไฟ ตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคมด้วย เป็นสัดส่วน 40% ตามที่ฝ่ายไทยเสนอ

แต่ผมทราบมาว่า ก่อนถึงวันวางศิลาฤกษ์ 1-2 วัน คือประมาณวันที่ 17-18 ธันวาคม 2558 ได้มีการหารือนอกรอบระหว่างไทย-จีน โดยฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนร่วมลงทุนในงานทั้งหมด รวมทั้งงานโยธาด้วย ซึ่งเดิมฝ่ายไทยจะรับผิดชอบลงทุนเอง ข้อมูลที่ผมได้รับมานี้สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ รมว.คมนาคม ก่อนจะเดินทางไปจีนในวันที่ 28 มกราคม 2559 เพื่อหารือนอกรอบในประเด็นสัดส่วนการลงทุน ดังนี้

“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มีนโยบายและมอบหมายให้เจรจาให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากขึ้น และให้ครอบคลุมถึงการก่อสร้าง (งานโยธา) ด้วย จากเดิมจีนจะลงทุนเฉพาะงานเดินรถในสัดส่วน 40% เพื่อให้จีนมาร่วมรับภาระความเสี่ยงโครงการมากขึ้น เช่น อาจจะให้จีนร่วมลงทุน 70% และไทย 30% เป็นต้น” (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 27 มกราคม 2559) ซึ่งตรงกับความเห็นของผมที่ได้โพสต์ไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ว่าควรให้จีนมาร่วมลงทุนเพิ่มมากขึ้น

การเสนอขอเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนอย่างกระทันหันของฝ่ายไทยหลังจากมีการเจรจาผ่านมาแล้วถึง 9 ครั้ง ทำให้ฝ่ายจีนลำบากใจที่จะนำข้อเสนอนี้ไปขอความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจ เพราะจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการหารือนอกรอบในวันที่ 29 มกราคม 2559 ตามการให้สัมภาษณ์ของ รมว.คมนาคมดังกล่าวข้างต้น ผลจึงออกมาว่า ฝ่ายจีนไม่อาจร่วมลงทุนงานโยธาด้วยได้ แต่ฝ่ายจีนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเฉพาะงานเดินรถ (ระบบรถไฟ ตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม) เป็น 60% จากเดิม 40%

นั่นเป็นการหารือนอกรอบก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เคอเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ณ มณฑลไหหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้ผลสรุปการหารือทวิภาคีเกี่ยวกับความร่วมมือด้านรถไฟ ดังนี้

1. ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ตัดสินใจให้รัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด 100% โดยฝ่ายจีนไม่ต้องร่วมลงทุนเลยทั้งงานโยธา ระบบรถไฟ ตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม

2. เปลี่ยนจากรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

3. ตัดเส้นทางระยะแรกให้สั้นลง จากเดิม กรุงเทพฯ-หนองคาย เหลือเป็น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา

อะไรทำให้ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ตัดสินใจไปเช่นนั้นยังคงเป็นปริศนาดำมืด ท่านได้รับข้อมูลก่อนการหารือครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ ผมทราบมาว่าการหารือทวิภาคีในครั้งนั้น ไม่มีประเด็นความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนบรรจุอยู่ในวาระด้วย ทำให้ฝ่ายจีนไม่ได้เตรียมผู้รับผิดชอบด้านรถไฟมาร่วมหารือด้วย จึงเป็นเหตุให้การหารือไม่ราบรื่นเท่าที่ควร จนนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมดของฝ่ายไทย

ผมนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อชี้เห็นว่าข้อความที่ รมว.คมนาคมให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ เมื่อคืนวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ว่าจีนไม่ยอมร่วมลงทุนด้วยนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนในอนาคตก็ได้ ที่สำคัญ การที่รัฐบาลไทยได้ว่าจ้างให้จีนออกแบบ คุมงานก่อสร้าง และติดตั้งราง ระบบตั๋ว อาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคม รวมทั้งซื้อรถไฟจากจีน โดยจีนไม่ต้องร่วมลงทุนเลยนั้น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วหรือ

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าควรให้จีนร่วมลงทุนในเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมาในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-จีนขึ้นมา ซึ่งจะกระตุ้นให้จีนพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้โครงการไม่ขาดทุน เช่น จะพยายามขนผู้โดยสารชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยโดยใช้รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น แต่ในกรณีที่เราลงทุนเองทั้งหมด 100% จีนก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

เรื่องสำคัญเช่นนี้ ผมขอฝากไปยังท่านนายกฯ ประยุทธ์ ให้พิจารณาสั่งการไปที่ รมว.คมนาคมด้วยครับ