posttoday

Social Media กับการสมัครงาน

24 มิถุนายน 2560

ขณะนี้การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานของหลายองค์กรได้ใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media)

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

ขณะนี้การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานของหลายองค์กรได้ใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นเครื่องมือที่ตรวจสอบและกลั่นกรองในการรับพนักงานใหม่กันมากขึ้น

 ผู้เขียนเป็นผู้ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้กับองค์กรต่างๆ และได้ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกพนักงานให้กับบางองค์กรอยู่เสมอ

 แม้การคัดเลือกพนักงานปัจจุบันให้น้ำหนักไปที่คนที่ทำอะไรได้เร็วและแม่นยำเป็นหลัก

  แต่หลายองค์กรได้นำการตรวจสอบผู้ที่มาสอบ ที่ใช้ชีวิตสัมพันธ์กับโลกผ่านทางโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีรายละเอียดให้เห็นได้ทั้งทางพฤติกรรม อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ ฯลฯ ซึ่งอาจมีผลมาถึงองค์กร

 เป็นห่วงคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตกับโลกโซเชียลที่เหนียวแน่นขึ้นทุกวันค่ะ

 หลายคนเปิดเผยตัวเองกันแบบไม่ยั้งคิดแล้วก็ต้องกลับมาติดกับดักโซเชียลมีเดียที่ตัวเองวางเอาไว้ เสียดายกับหลายคนที่บุคลิกดี สดใส เก่ง ได้คะแนนดีในการสอบอย่างอื่น แต่กลับถูกคัดออกเพราะสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียที่สร้างขึ้นมาด้วยน้ำมือตัวเอง

  คนที่กำลังจะถึงวัยทำงานต้องคิดให้จงหนัก ขอให้ตระหนักว่า ฝ่ายบุคคลขององค์กรที่คัดเลือกพนักงานสมัยนี้ นอกจากดูประวัติที่กรอกมาในฟอร์มที่สมัครและเรซูเมแล้ว เขายังตามไปดูในเฟซบุ๊ก
อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ของคนที่เข้าสมัครในรอบท้ายๆ ด้วย

 บางคนเมื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ ฉลาดพูดเพราะ ทัศนคติดี ฯลฯ ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ผ่านแล้วละ แต่พอไปดูในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ กลายเป็นคนละคน หยาบคาย พูดคำด่าคำ ฯลฯ

เพราะคนเหล่านั้นคิดว่า สื่อโซเชียลเป็นพื้นที่ของตัวเองจะคิดจะพูด จะปลดปล่อย อะไรก็เรื่องของตัว     

แต่ทางบริษัทเขาไม่คิดอย่างนั้น เขามีหลักเกณฑ์ในการเลือกคนที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด

ถ้าคนที่เขา “ชอบ” กลับไม่ใช่คนที่เขาเห็นว่า “ใช่” หรือเห็นว่าไม่เหมาะกับคุณลักษณะงานที่บริษัทต้องการจริงๆ จะมีโอกาสถูกร่นไปต่อท้ายคนอื่น หรือมีโอกาสถูกคัดทิ้งมากค่ะ 

 สิ่งที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียยังบอกอุปนิสัยส่วนตัวของคนที่มาสอบได้ดี เช่น

ทำไมตี 3 แล้วยังไม่นอน?

รสนิยมกินหรูหรา ฟุ่มเฟือยเกินตัวหรือไม่?

ชอบแชร์เรื่องชาวบ้านแต่ไม่เคยมีความคิดอะไรเอง?

ชอบลงรูปเซ็กซี่วาบหวิว? และที่มาแรงมากตอนนี้คือ พวกที่ชอบ Live โดยไม่บันยะบันยัง

เหล่านี้แหละค่ะคือ คะแนนหมวดสุดท้ายที่บางองค์กรนำมาพิจารณาโดยที่คนมาสมัครงานไม่รู้ จึงขอบอกคนที่กำลังจะไปสมัครงานตอนนี้ว่า ให้ระวังต่อสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดียของตนให้ดี เพราะจะมีผลต่อการพิจารณารับเข้าทำงานโดยตรง

 ตั้งแต่บัดนี้ไปเราต้องไม่คิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัว เพราะชื่อโซเชียลมีเดียก็แปลตรงตัวอยู่แล้วว่า มันเป็นสื่อสังคม มันเป็นพื้นที่ในอากาศที่ท่านสามารถนำสัพเพเหระไปทิ้งไว้แล้วสังคมก็รับไปอ่านและรับรู้ได้ 

 เราใช้โซเชียลมีเดียเป็นที่แสดงตัวตนของเรา มันคือ หน้าบ้านของเรา แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปอย่างไร้ทิศทางก็นำมาปรุงแต่งให้ดูดีให้เป็นประโยชน์ต่อเราไม่ดีกว่าหรือใครจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ต้องเอาใจใส่ดูแลมัน

โซเชียลมีเดียยังเป็นไทม์แมชีน มันจะบันทึกเรื่องราวตามวันวานที่ผ่านไป มันเป็นเครื่องมือบันทึกที่สามารถบอกถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเรื่องราวของเจ้าของเพจนั้นไปพร้อมกับอายุเจ้าของที่เดินไปเคียงคู่กัน

 จึงน่าจะดีหากคนที่หวังจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งประกอบ หรืออ้างอิงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในวันเวลาที่ผ่านไปให้เป็นที่แสดงภาพลักษณ์ของตนเอง แบ่งใจแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาดูแลโซเชียลมีเดียให้เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตนของตนอย่างมีเป้าหมาย

อะไรที่ไม่สวยไม่งามไม่ดีก็อย่าใส่ลงไป อะไรที่รู้สึกว่าขัดๆ หรือว่าวันนี้เราเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็ตามกลับไปลบบางอย่างที่เคยลงไว้ทิ้งเสีย

แต่หากถูกใครก๊อบปี้ไปแล้ว หรือในบางสื่อที่ลบทิ้งไม่ได้ ก็หาคำตอบแก้ไข ซึ่งก็ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรม การบันทึกในประวัติของโซเชียลมีเดียเวลาเขาตรวจสอบย้อนไปนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีกับองค์กร

ต่อไปนี้ใครมีลูกหลานก็ไปบอกไว้เลยว่า การใช้โซเชียลมีเดียต้องใช้เป็นอุปกรณ์สร้างอนาตต ไม่ใช่ใช้กันเล่นๆ อย่างเดียวแล้ว คิดกันให้ยาวๆ ไกล ต้องมีสติในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อควบคุมการแสดงตัวในสื่อสาธารณะ

ต้องตระหนักถึงการเตรียมโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างโอกาสให้กับอนาคตตัวเองให้มากๆ ที่เขียนมาอาจให้บางคนเริ่มคิดว่า ต่อไปนี้เราก็เล่นโซเชียลมีเดียไม่สนุกแล้วสิ

เอ...แต่ทำไมไม่ลองคิดอีกอย่าง

ในเมื่อหลายองค์กรหยิบเรื่องโซเชียลมีเดียขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือร่วมในการคัดเลือกพนักงาน แล้วทำไมเราไม่ใส่เนื้อหาเข้าไปในโซเชียลมีเดียเพื่อให้คนเห็นแล้วอยากจ้างเราทำงานล่ะคะ   คิดต่อเลยค่ะ...

(อ่านต่อวันเสาร์หน้าค่ะ)