posttoday

เลื่อนบังคับใช้กม.เดินเรือในน่านน้ำไทย หลังกระทบประมงท้องถิ่น

21 มิถุนายน 2560

คมนาคมไฟเขียวเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเดินเรือในน่านน้ำไทยเพื่อปรับแก้ หลังชาวประมงท้องถิ่นได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก

คมนาคมไฟเขียวเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเดินเรือในน่านน้ำไทยเพื่อปรับแก้ หลังชาวประมงท้องถิ่นได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สมาพันธ์กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 5 ภาค ได้เข้าเรียกร้องขอให้กระทรวงคมนาคม ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17)พ.ศ.2560 เพื่อให้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังสามารถเลี้ยงปลาในลำน้ำ ลำคลอง แม่น้ำทั่วประเทศต่อไปได้ เนื่องจากเกษตรกรกว่า 100,000 รายที่เลี้ยงปลากระชังในลำน้ำคลอง แม่น้ำเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของกรมเจ้าท่า(จท.)ที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อ เพิ่มโทษผู้ที่ล่วงล้ำลำน้ำซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.นี้ โดยมีค่าปรับที่ 500-10,000บาทต่อตารางเมตร และหรือจำคุกนั้นทางคมนาคมเห็นควรที่จะเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชนริมลำคลอง และแม่น้ำ

สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังต้องการให้แก้ไขใน 3 ประเด็นประกอบด้วย 1.ขอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ออกไปก่อน 2. ให้พิจารณายกเว้นค่าปรับและโทษผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชัง เนื่องจากในกฎหมายหากตรวจพบเกษตรกร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท  3.การยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมรายปี หรือให้ลดราคา เนื่องจากเกษตรกรมองว่าราคาที่จะจัดเก็บมีอัตราสูงไปโดยราคาที่จัดเก็บที่ 50 บาท/ตารางเมตร/ปี

ด้านนายเมธี อำไพพิศ ผู้ประสานงาน สมาพันธ์กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 5 ภาค กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 5 ภาค ทั่วประเทศกว่า 100,000 ราย และเป็นผู้ที่เลี้ยงปลาวิถีชีวิตตามลำน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ แต่เมื่อกรมเจ้าท่าออก พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย(ฉบับที่17)เพื่อป้องกันปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ การขวางระบายน้ำ ของอาคารต่างๆที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำและการเดินเรือออกมาได้ส่งผลกระทบอย่างมากกับเกษตรกร แต่ยืนยันว่ากระชังเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ถาวร และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำและการเดินเรือแต่อย่างใด ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลผ่อนผันกฎหมายระเบียบข้อบังคับออกไปก่อน อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 สัปดาห์ ทางสมาพันธ์จะเข้ามาสอบถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆจากกระทรวงอีกครั้ง โดยส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจต้องใช้วิธีพิเศษหรืออำนาจตามาตร 44 เนื่องจากตัว พรบ.นั้นได้ประกาศบังคับใช้ไปแล้วดังนั้นการเข้าไปดำเนินการแก้ไขกฎหมายบางส่วนนั้นอาจใช้เวลานานและมีขั้นตอนยุ่งยากอีกด้วย

"ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในกระชังเฉลี่ยรายละ 5ตารางเมตร-500 ตารางเมตร และปลาส่วนใหญ่ที่เลี้ยงจะเป็นปลาน้ำจืด ปลานิล ปลาทับทิมเป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะเป็นผู้ที่อาศัยตามถิ่นนั้นเพื่อเลี้ยงชีพ และกฑหมายมีผลบังคับใช้ต้องจ่ายค่าปรับที่ 50บาท/ตรม. เกษตรกรที่เลี้ยงปลาในกระชังจะเสียค่าปรับเฉลี่ยที่ 250บาท/ตารางเมตร-25,000 บาท/ตารางเมตร แล้วแต่ว่าใครมีพื้นที่เลี้ยงมากน้อยเท่าไหร่ จากก่อนหน้าไม่เคยเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้"

สำหรับพรบ.ดังกล่าวได้ลงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  24 ม.ค.ที่ผ่านมา  และมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 ก.พ. โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณประโยชน์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำสำหรับการพาณิชนาวี การเกษตรกรรม และการป้องกันอุทกภัย  ซึ่งในเนื้อหาระบุว่าหากฝ่าฝืนการปลูกสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และไม่แจ้งภายในกำหนด 22 มิ.ย.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไมเกิน 20,000 บาท

นอกจากนี้ผู้ครอบครองวิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำต้องแจ้งต่อกรมเจ้าท่าหรือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่สิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ตามช่องทางหรือวิธีการที่กำหนดภายในวันที่ 22 มิ.ย.นี้  หลังจากนั้น จท.จะแจ้งให้ทราบว่าการออกใบอนุญาตให้ได้หรือให้ทำการรื้อถอนภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง เป็นต้น