posttoday

จี้รฟท.พัฒนาที่ดินปั๊มรายได้

12 มิถุนายน 2560

จี้ รฟท.ปั๊มรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5% เร่งแผนตั้งบริษัทลูกภายในปีนี้ ล้างหนี้สะสมกว่าแสนล้านบาท

จี้ รฟท.ปั๊มรายได้เชิงพาณิชย์เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5% เร่งแผนตั้งบริษัทลูกภายในปีนี้ ล้างหนี้สะสมกว่าแสนล้านบาท

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธาน มีมติให้ รฟท.เร่งดำเนินการเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สินที่ไม่ใช่จากการเดินรถหรือรายได้เชิงพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% จากยอดรายได้ปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 2,600 ล้านบาท/ปี และเร่งรัดจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท. เพื่อพัฒนาบริหารสินทรัพย์ขององค์กร โดยนำที่ดินออกให้เช่าหรือเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดทุนขององค์กร

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ขณะนี้ได้ศึกษาการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เสร็จเรียบร้อยและเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องเสนอต่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทได้ภายในปีนี้ เบื้องต้น รฟท.จะถือหุ้นโดย รฟท. 100% โดยในช่วงแรกจะจ้างผู้บริหารมืออาชีพจากบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารงานก่อนเพื่อให้บริษัทเดินหน้าได้เร็ว

“รถไฟจะถือหุ้น 100% แต่จ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารงานในช่วงแรก หากบริษัทไปได้ดีมีความเข้มแข็งในอนาคตรถไฟก็อาจจะกลับบริหารงานเอง รูปแบบการทำงานบริษัทจะคล้ายๆ กับกรมธนารักษ์ คือนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเดินรถซึ่งขณะนี้มีประมาณเกือบ 4 หมื่นไร่ ออกไปให้เอกชนเช่าพัฒนาธุรกิจในระยะยาว โดยรถไฟจะหาผู้ร่วมทุนจากเอกชนเท่านั้น”นายอานนท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารบริษัทขึ้นมากำกับดูแลการบริหารงานของบริษัทอีกชั้นหนึ่ง โดยจะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานอิสระจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานกฤษฎีกา เข้ามานั่งเป็นกรรมการร่วมกับ รฟท. นอกจากนี้ รมว.คมนาคมยังมีแนวคิดให้ใช้กลไกหน่วยงานภายนอกเข้ามาทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบการทำงานเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้การบริหารงานเกิดความโปร่งใสเป็นธรรมเนื่องจาก รฟท.มีสินทรัพย์จำนวนมากและมีมูลค่าสูง

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน กล่าวว่า รฟท.มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากค่าโดยสาร 6,400 ล้านบาท และรายได้เชิงพาณิชย์ 2,600 ล้านบาท โดยมีหนี้สินสะสมรวมประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ของ รฟท. 8 หมื่นล้านบาท และหนี้สินของบริษัทรับจ้างเดินรถ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. หรือแอร์พอร์ตลิงค์ ราว 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ แนวทางการศึกษาเรื่องการจัดตั้งบริษัทลูกของ รฟท. นั้นเน้นไปที่การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะพื้นที่ศักยภาพ 11 แปลงใหญ่รอบเมืองหลวง อย่างพื้นที่ กม.11 พื้นที่ 360 ไร่ บริเวณจตุจักร สถานีแม่น้ำ 277 ไร่ และสถานีกลางบางซื่อ 298 ไร่ โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาทในช่วง 6 ปีแรกของการก่อตั้งบริษัท ขณะที่ความคืบหน้าบริษัทลูกด้านบริหารงานเดินรถของ รฟท.นั้น คาดว่าจะจัดตั้งภายในปี 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนราว 3,000 ล้านบาท เพื่อเข้ารับงานเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร