posttoday

ครม.เห็นชอบระดมทุนสร้างทางด่วนใหม่2เส้น4.4หมื่นล้าน

06 มิถุนายน 2560

ครม.ไฟเขียวระดุมทุนสร้างทางด่วนสองเส้น 4.4 หมื่นล้าน "บิ๊กตู่" สั่งเร่งตอกเสาเข็มภายในปีนี้ เคาะราคาตลอดสาย 60 บาท

ครม.ไฟเขียวระดุมทุนสร้างทางด่วนสองเส้น 4.4 หมื่นล้าน "บิ๊กตู่" สั่งเร่งตอกเสาเข็มภายในปีนี้ เคาะราคาตลอดสาย 60 บาท

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 31,244 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างและควบคุมงาน 30,437 ล้านบาทและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 807 ล้านบาท โดยมีมติให้รัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว  คาดว่าจะเสนอแนวทางประกวดราคาให้คณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) กทพ.เห็นชอบได้ภายในเดือนนี้จากนั้นจะสามารถประมูลโครงการได้ภายในเดือนต.ค.นี้ก่อนเซ็นสัญญาลงนามภายในเดือนพ.ย.และเริ่มต้นก่อสร้างในเดือนธ.ค.นี้ ตามกรอบระยะเวลา 39 เดือนเพื่อเปิดใช้ในปี 2564

ขณะที่โครงการทางด่วนขั้นที่ 3ในเส้นทาง N 2 (เกษตร-นวมินทร์)วงเงิน 14,382 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเข้าครม.ได้ภายในเดือนหน้าก่อนเปิดประมูลในช่วงเดียวกันกับโครงการทางด่วนพระราม 3 ราว ต.ค.-พ.ย. ก่อนเริ่มตอกเสาเข็มพร้อมกันภายในธ.ค.ตามความต้องการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการผลักดันทั้งสองโครงการที่จะเข้าระดมทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เริ่มก่อสร้างภายในปีนี้

นอกจากนี้ครม.ยังได้อนุมัติให้ใช้รูปแบบการลงทุนในการก่อสร้างทางด่วนของกทพ.เป็นแบบระดมทุนผ่าน (TFF : Thailand Future Fund) วงเงินรวมทั้งสิ้น 44,819 ล้านบาท แบ่งเป็นการระดมทุนโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก 31,244 ล้านบาทและโครงการทางด่วนขั้นที่ 3ในเส้นทาง N 2 (เกษตร-นวมินทร์)วงเงิน 14,382 ล้านบาท โดยโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกจะแบ่งการระดมทุนเป็น 4 งวดได้แก่ ช่วงปี 61 วงเงิน 6,032 ล้านบาท ช่วงปี 62 วงเงิน 9,062 ล้านบาท ช่วงปี 63 วงเงิน 11,484 ล้านบาทและสุดท้ายช่วงปี 64 วงเงิน 4,666 ล้านบาท ซึ่งกองทุนจะนำรายได้จากทางด่วนเส้นหลัก 3 เส้นเพื่อจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน ได้แก่ โครงการทางพิเศษบูรพาวิถี โครงการทางพิเศษฉลองรัช และโครงการทางพิเศษกาญจนาภิเษก โดยเก็บรายได้ประมาณ 45%จากรายได้ทั้งหมด

ส่วนรายได้จากค่าบริการทางหลวงสายพระราม 3 –ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกจะจัดเก็บเป็นรายได้ของกทพ.โดยตรง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR : Economic Internal Rate of Return) เท่ากับร้อยละ 19.84 ขณะที่ผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FIRR : Financial Rate of Return) เท่ากับร้อยละ 3.35

นายพิชิตกล่าวิดว่า สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 –ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเป็นหนึ่งในโครงการแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (แอคชั่นแพลน)ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นโครงข่ายพิเศษรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่เขตรอบนอกและชั้นในของเมืองหลวงตลอดจนแก้ปัญหารถติดในพื้นที่พระราม2-ดาวคะนองอีกด้วย โดยโรงการมีทางขึ้น-ลง 7 แห่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) และมีทางขึ้น-ลงที่จุดเริ่มต้นโครงการกิโลเมตรที่ 13+000 ของถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระราม 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ

ทั้งนี้อัตราจัดเก็บค่าผ่านทาง จะเป็นรายได้ของ กทพ.ทั้งหมด โดยจะแบ่งการจัดเก็บออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงวงแหวนตะวันตก-ดาวคะนอง และดาวคะนอง-พระราม3   โดยจะจัดเก็บแต่ละช่วงในอัตราที่เท่ากันดังต่อไปนี้ สำหรับรถ4ล้อ เก็บคันละ30บาท , รถบรรทุก10ล้อ เก็บค่าละคันละ60บาท และรถมากกว่า10ล้อ เก็บคันละ 90บาท  โดยจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางในอัตรา5บาท/คัน ทุกๆ5ปี ส่วนผู้ใช้บริการที่ใช้ทั้งสองช่วงอัตราบริการจะอยู่ที่สำหรับรถ4ล้อ เก็บคันละ60บาท , รถบรรทุก10ล้อ เก็บค่าละคันละ120บาท และรถมากกว่า10ล้อ เก็บคันละ 180บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากองทุนTFFคาดว่าจะเปิดขายได้หน่วยละ 10 บาทโดยมีดอกเบี้ยปันผลราว 5% ขณะที่รายได้ของทางด่วนในแต่ละปีนั้นแบ่งเป็น ทางด่วนบูรพาวิถีการจราจรเฉลี่ย 1.4 แสนคันต่อวัน รายได้รวม 2 พันบ้านบาทต่อปี ขณะที่ทางด่วนกาญจนาการจราจรราว 1.5 แสนคันต่อวัน รายได้เฉลี่ยปีละ 2.7 พันล้านบาท และทางด่วนฉลองรัชการจราจร 2 แสนคันต่อวัน รายได้เฉลี่ยปีละ 2.8 พันล้านบาท รวมสามเส้นทางรายได้เฉลี่ยปีละ 7.5 พันล้านบาทต่อปี