posttoday

จีดีพีภาคเกษตรโต3%

06 มิถุนายน 2560

สศก.คาดปี 2560 จีดีพีภาคเกษตรโตตามเป้า 3% หลังดัชนีราคาสินค้าเกษตรดีตามคาด ทุเรียน มังคุดส่งออก 3 หมื่นล้าน

สศก.คาดปี 2560 จีดีพีภาคเกษตรโตตามเป้า 3% หลังดัชนีราคาสินค้าเกษตรดีตามคาด ทุเรียน มังคุดส่งออก 3 หมื่นล้าน

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.คาดว่าในปี 2560 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรหรือจีดีพีภาคเกษตร จะขยายตัวได้ถึง 3% จากช่วงต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3% ทั้งนี้ เนื่องจากดัชนีราคาผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้นเกือบ ทุกตัว โดยช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) สินค้ามีมูลค่า 5.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 มีมูลค่า 5.58 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เบื้องต้นในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 พบว่า จีดีพีขยายตัว 2% จากราคาผลไม้ภาคตะวันออกดีขึ้น แม้จะมีปริมาณผลผลิตมากกว่าปี 2559 ถึง 30% โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด ที่คาดว่าทั้งปีจะสามารถส่งออกได้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นมูลค่าส่งออกทุเรียนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และมังคุดประมาณ 5,000 ล้านบาท

สำหรับช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 สศก.คาดว่าจีดีพีขยายตัวต่อเนื่องจากสินค้าเกษตรตัวหลักที่จะทยอยออกมา ทั้งยางพารา ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ปาล์ม และผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่และผลไม้ในภาคใต้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะดีขึ้น และราคาน้ำมันจะอยู่ที่ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

น.ส.จริยา กล่าวว่า สศก.คาดว่าผลผลิตทุเรียนปีนี้จะมีประมาณ 6.3 แสนตัน เพิ่มจากปี 2559 ที่มีประมาณ 5.8 แสนตัน โดยราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ประมาณ 60 บาท/กก. เท่ากับปี 2559 แม้ว่าผลผลิตจะมากกว่า โดยประเทศที่ส่งออกหลัก คือ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง มังคุดคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 4.1 แสนตัน จากปี 2559 มีประมาณ 1.87 แสนตัน ราคาจำหน่ายหน้าสวนอยู่ที่ 60-78 บาท/กก. จากปี 2559 ราคาอยู่ที่ 59  บาท/กก.

ด้าน นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มแห่งประเทศไทย (คยปท.) กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางพารา ลดลง 16 บาท/กก. จาก 68 บาท เหลือ 52 บาท สาเหตุที่ราคาตกต่ำน่าจะมา จากนักลงทุนบางคนบางกลุ่มที่ซื้อขาย ขาดทุนในตลาดขายล่วงหน้าต่างประเทศ แล้วโยนภาระขาดทุนให้กับชาวสวนยาง โดยอ้างว่าบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูป ยางล้อระดับโลก ไม่รับซื้อยางเสียบ ใช้สารกันบูดทำให้ยางไม่มีคุณภาพ จนทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคาซื้อดังกล่าว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่ ส่งผลกระทบหนักต่อชาวสวนยางภาค ทั่วประเทศ โดยการนำ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้