posttoday

กระทรวงเกษตรฯ คลอดกม.ปลดแอกสัญญาทาสจากนายทุน

02 มิถุนายน 2560

รมช.เกษตร เผย กม.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ประกาศในราชกิจจาแล้ว มีผลบังคับใช้ 23 ก.ย. 2560

รมช.เกษตร เผย กม.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ประกาศในราชกิจจาแล้ว  มีผลบังคับใช้ 23 ก.ย. 2560  

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560  และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน คือตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.  2560  เป็นต้นไป   ซึ่งต่อไปกฏหมายดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือช่วยให้การทำสัญญาระหว่างเกษตรกรตั้งแต่สิบรายขึ้นไปกับผู้ประกอบธุรกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาว่าเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมและเป็นสัญญาทาสของนายทุน 

“อย่างไรก็ตามในการทำสัญญาจะต้องเป็นความพอใจของสองฝ่ายคือเกษตรกรและผู้ประกอบการ หน่วยราชการมีหน้าที่เพียงดูแลให้เกิดความเป็นธรรมและเมื่อมีกรณีพิพาทเท่านั้น “  นางสาวชุติมากล่าว

นายสุรพงษ์ เจียสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา”   ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯได้ต่อสู้ในชั้นกรรมาธิการต่อเนื่อง  จนได้ออกมาเป็นกฏหมายที่มุ่งจะคุ้มครองเกษตรกรและลบปัญหาเกษตรพันธุสัญญา หรือสัญญาทาสที่เคยมีมาตลอด โดยในกฏหมายได้กำหนดให้    ต่อไประบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้น   เพื่อผลิต จำหน่ายหรือจ้างผลิต ทั้งจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนด  และกำหนดให้ผู้ปแระกอบธุรกิจต้องมีส่วนในกระบวนการผลิตเช่นเป็นผู้กำหนดวิธีผลิต การจัดหาพันธุ์  ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรด้วย  หรือปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร 

ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งมี รมว.เกษตรฯเป็นประธาน กรรมการ 24 คนทั้งโดยตำแหน่งและผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนเกษตรกร  มาเป็นผู้ดูแลให้สัญญามีความเป็นธรรมโดยจะมีการออกสัญญากลางในแต่ละรายพืช สัตว์ และประมง ฯลฯ  และในส่วนของสัญญาการซื้อขาย ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการออกหนังสือชี้ชวนให้เกษตรกรที่สนใจทราบและส่งสำเนาให้สำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทราบโดยหนังสือชี้ชวนต้องระบุถึงข้อมูลทางการค้า  ข้อมูลการผลิต ทั้งเงินทุน คุณภาพ และปริมาณที่จะรับซื้อ การขนส่ง ประมาณการยะยะเวลาคืนทุน ความคุ้มค่าในการผลิต ภาวะเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบรวมกันและส่งสำเนาให้กับสำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯด้วย   นอกจากนั้นจะมีคณะกรรมการไกล่เกลี่ยระดับกรุงเทพะมหานคร มีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน และระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งจะต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยให้เสร็จใน 20 วันนับแต่ได้รับเรื่องกรณีไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จให้ไประบบอนุญาโตตุลาการ  หรือสู่ศาล

สาระสำคัญของกฏหมายคือการกำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจที่จะทำเกษตรพันธสัญญาตามกฏหมายนี้จะต้องมาจดทะเบียน และเมื่อเลิกธุรกิจก็ต้องแจ้งสำนักปลัดกระทรวงเกษตรฯล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันเช่นกัน กรณีไม่แจ้งขึ้นทะเบียนมีโทษอาญาและมีโทษปรับ 3 แสนบาท  

ทั้งนี้ จะมีมาตรการคุ้มครองระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยห้ามมิให้คู่สัญญาชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย กระทำการใด ๆ ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดลงแล้ว หรือทำข้อตกลงเพิ่มเติมหรือแก้ไขสัญญาเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับความเสี่ยงภัย รับภาระ หรือมีหน้าที่เพิ่มเติมโดยไม่มีค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯจะมีการทำกฏหมายรองอีก 16 ฉบับ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการในการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามกฏหมาย อาทิหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการประกอบธุรกิจและการเลิกการประกอบธุรกิจ หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตร และหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ รวมทั้งกำหนดแนวทางจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติ

สำหรับพรบ.ดังกล่าวมีด้วยกัน  48 มาตรา ซึ่งเป็นกฏหมายที่เกษตรกรและกระทรวงเกษตรฯได้พยายามผลักดันให้เกิดตลอดเวลา 10ปีที่ผ่านมาภายหลังที่ผู้ประกอบธุรกิจเริ่มมีการทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรหรือให้เกษตรกรผลิตโดยกดราคารับซื้อและหรือปฏิเสธการรับซื้อในราคาที่ตกลง เมื่อราคามีการเปลี่ยนแปลง