posttoday

บิ๊กฉัตรชงของบกลาง1พันล้านลุยโครงการโคบาลบูรพา

29 พฤษภาคม 2560

รมว.เกษตรฯเสนอครม.ของบกลาง 1,028 ล้านบาท ดำเนินโครงการโคบาลบูรพา ส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว

รมว.เกษตรฯเสนอครม.ของบกลาง 1,028 ล้านบาท ดำเนินโครงการโคบาลบูรพา ส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาของบกลาง1,028 ล้านบาท  เพื่อดำเนินโครงการโคบาลบูรพา ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว   ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว   เป้าหมาย  1.03 แสนไร่ เกษตรกร  6,377  ราย โครงการ 6ปี (2560-65)

ทั้งนี้จะเป็นพื้นที่ประกาศให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้งจังหวัดสระแก้วปี 59/2560  และพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.)ที่ยึดคืนมาตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  ใน พื้นที่อำเภออรัญประเทศ อ.วัฒนานคร และอ.โคกสูง โดยจะดำเนินการในรูปของเกษตรแปลงใหญ่   ใน 5 กิจกรรมคือ โครงการธนาคารสินค้าเกษตร เป้าหมายโค  3 หมื่นตัวเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ  6 พันราย  เพื่อให้จังหวัดสระแก้วเป็นสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และส่งผลให้จังหวัดสระแก้วเป็นเมืองแห่งปศุสัตว์  ทั้งนี้เมื่อครบ  5ปี จะมีวัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 แสนตัว

โครงการจะมี 5 กิจกรรมคือ 1.โครงการส่งเสริมการผลิตแม่โคเนื้อ ให้เกษตรกรที่เข้าโครงการเลี้ยงแม่โคเนื้อรายละ  5 ตัว และส่งคืนลูกโคตัวเมียอายุ  10 เดือนให้เกษตรกรในโครงการต่อไปวงเงิน  900  ล้านบาท  โดยกรมปศุสัตว์จะเป็นผู้จัดหาโคเนื้อแม่พันธุ์พื้นเมืองเดือน มิ.ย.  2560   2.โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ เป้าหมายเกษตรกร 100  รายๆละ  32 ตัว และคืนลูกเพศเมียอายุ 6 เดือนให้โครงการวงเงิน13 ล้านบาท   3. โครงการส่งเสริมปลูกพืชอาหารสัตว์แทนพืชรายได้น้อย เป้าหมาย 1 แสนไร่ ระยะแรก 4 หมื่นไร่  งบ 80  ล้านบาท  4.โครงการส่งเสริมโรงฆ่ามาตรฐานจีเอ็มพี  1 แห่ง  งบประมาณ  34 ล้านบาท  5. ส่งเสริมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ตั้งสหกรณ์โคบาลบูรพา  1 แห่ง โดยใช้งบปกติของโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของแต่ละกรม

ทั้งนี้สถานการณ์โคเนื้อของไทย 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณโคลดลงจาก 8 ล้านตัวเหลือปัจจุบัน 4 ล้านตัว  แต่ความต้องการเพิ่มขึ้นและรองรับการขยายตัวของตลาดเออีซีและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าโคเนื้อจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินเดีย บังคลาเทศเป็นต้น  การส่งเสริมดังกล่าวจะทำให้มีการผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้นและไม่เสี่ยงกับโรคในสัตว์เท้ากีบ