posttoday

นายกฯตั้งเป้าระบายข้าวสต็อกรัฐหมดในช่วงรัฐบาลนี้

29 พฤษภาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์เผยเร่งระบายข้าวในสต็อกให้แล้วเสร็จในช่วงรัฐบาลนี้ เพื่อให้กลไกตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์เผยเร่งระบายข้าวในสต็อกให้แล้วเสร็จในช่วงรัฐบาลนี้ เพื่อให้กลไกตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม Thailand Rice Convention 2017 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การค้าข้าวไทยและทิศทางในอนาคต" โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กลุ่มผู้นำเข้าข้าว ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมข้าว พร้อมด้วยผู้แทนการค้าจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศ ผู้ซื้อ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อังกฤษ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมประชุมกว่า 1 พันคน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้มาอย่างยาวนานของไทย ประชากรกว่า 4 ล้านครัวเรือนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทำให้แต่ละปีมีผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกข้าวเฉลี่ย 10 ล้านตัน/ปี ไปยังตลาดทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวกลับคืนมาได้ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา

"รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาข้าวคงเหลือสต็อก โดยได้วางกรอบยุทธศาสตร์และแผนการระบายข้าวอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดและราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับ โปร่งใส และรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ รวมทั้งพิจารณาจังหวะเวลาในการระบายข้าวอย่างเหมาะสม ซึ่งสต็อกข้าวที่มีปริมาณกว่า 18 ล้านตันที่รัฐบาลต้องเร่งระบายข้าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยถือเป็นอุปทานข้าวที่กดทับตลาด ทำให้กลไกการค้าข้าวตามปกติถูกบิดเบือนอย่างรุนแรง"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯกล่องอีกว่า ภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวในสต็อกมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลได้ทยอยระบายข้าวตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวได้ให้ความเห็นชอบแล้วประมาณ 13 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 112,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะระบายข้าวที่เหลือให้หมดในช่วงของรัฐบาลนี้ เพื่อไม่ให้รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไป และเพื่อให้กลไกตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยเวลา

ขณะที่ การแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาไทย ถือเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ปัญหาข้าวทั้งระบบมีความซับซ้อน ต้องใช้การวางแผน สร้างองค์ความรู้ ใช้ระยะเวลา และต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวไทยอย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านการผลิตและการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทยและทำให้ไทยเป็นผู้นำการค้าข้าวและมีนวัตกรรมในสินค้าข้าวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถสร้างกลไกการตลาดข้าวให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางในการดำเนินการ เช่น บริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ ต้นทุนการผลิต ยกระดับคุณภาพผลผลิต เป็นต้น รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าวให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดทำแผนและทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวทุก 5 ปี เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปภาคเกษตรในระยะ 20 ปี ซึ่งได้ดำเนินงานไปแล้วบางส่วนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างความสมดุลในอุปสงค์และอุปทานของข้าว มุ่งเน้นให้การตลาดนำการผลิต นโยบายนาแปลงใหญ่ ส่งเสริมให้เกษตรรายย่อยรวมกลุ่มกันทำนา แปลงละ 1,000 ไร่ ขึ้นไป เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รวมทั้งสร้างอำนาจต่อรองราคา

ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายการรักษาตลาด รวมทั้งขยายตลาดส่งออกข้าวไทยไปพร้อมกันในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเน้นดำเนินการเชิงรุก เช่น จัดคณะผู้แทนไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเจรจาซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) กับประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ โดยตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลไทยได้ส่งมอบข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศภายใต้การทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ปริมาณรวม 3.43 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้ปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการค้าข้าวในปัจจุบันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกข้าวของไทย ซึ่งทั่วโลกให้ความเชื่อมั่นและยอมรับเสมอมา

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีกลไกตลาดมารองรับในการเชื่อมโยงสินค้า จากแหล่งผลิตโดยตรงไปยังตลาดกลางและศูนย์กระจายสินค้าข้าว เพื่อเชื่อมโยงต่อไปยังตลาดเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมโยงไปยังตลาดต่างๆ ทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเชื่อมโยงวัฏจักรข้าวไทยกับการท่องเที่ยววิถีชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยังเป็นการกระจายรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการค้าของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น นวัตกรรมถือเป็นอีกโครงการที่รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ จึงได้มุ่งผลักดันการบริหารจัดการข้าวให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ภายใต้โมเดล ประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตจาก สินค้าข้าวเชิงโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าข้าวเชิงนวัตกรรมและส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยยกระดับภาคการเกษตรและชาวนาไทยให้เป็น Smart Farmer ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงผลักดันให้ชาวนาได้รู้จักทำการค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนและสามารถต่อยอดดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาไปเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการ (SMEs Farmer) ได้ในที่สุด

"หากทุกภาคส่วนร่วมมือบูรณาการทำงานกันอย่างจริงจัง ก็จะยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้ระบบข้าวมีความมั่นคงแข็งแรง โดยรัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาเกษตกรให้มีความอยู่ดีกินดีขึ้น โดยทุกหน่วยงานจะต้องทำงานอย่างบูรณาการ ซึ่งตนจะเป็นผู้ประเมินผลการทำงานของทุกกระทรวงเอง โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว