posttoday

จัดโซนนิ่งอุตฯใหม่รับอีอีซี

29 พฤษภาคม 2560

กรอ.เล็งศึกษาจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรมรับอีอีซี พร้อมเร่งทำยุทธศาสตร์พัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียกเชื่อมั่นนักลงทุน

กรอ.เล็งศึกษาจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรมรับอีอีซี พร้อมเร่งทำยุทธศาสตร์พัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียกเชื่อมั่นนักลงทุน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า แผนในปี 2561 กรอ.จะศึกษาโครงการพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เน้นศึกษาและพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ จะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมทุกปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาเมือง เช่น ด้านข้อมูลศักยภาพของพื้นที่อุตสาหกรรม ข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมในจังหวัดเป้าหมาย รวมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจ โครงข่ายคมนาคม ขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีดังกล่าวจะรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นรายพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ เกิดการเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยแผนพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากเป็นข้อมูลที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มต้นประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับปีนี้ กรอ.มีโครงการศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปตั้งในแต่ละจังหวัดว่าจะมีประเภทใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ใดบ้าง โดยการศึกษาจะเข้าไปรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่และนำผลที่ได้มาเป็นแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรม และรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่กำหนดศึกษาพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดเป้าหมายจำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และนครพนม

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 พ.ค.จะช่วยให้การดำเนินการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเกิดขึ้นได้รวดเร็วและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ กรณีการจัดทำการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน (EHIA) จะเอื้อต่อการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์และการพัฒนาเมืองการบิน แม้จะอยู่ในพื้นที่กองทัพเรือ แต่คณะกรรมการอีอีซีเห็นว่าควรจัดทำรายงานอีเอชไอเอ