posttoday

ดึงอิสราเอลพัฒนาภาคเกษตร

26 พฤษภาคม 2560

ไทย-อิสราเอล เตรียมลงนามร่วมมือด้านเกษตรฉบับแรก เดือน ก.ค.นี้ เล็งสร้างระบบชลประทานประหยัดน้ำต้นแบบในภาคอีสาน

ไทย-อิสราเอล เตรียมลงนามร่วมมือด้านเกษตรฉบับแรก เดือน ก.ค.นี้  เล็งสร้างระบบชลประทานประหยัดน้ำต้นแบบในภาคอีสาน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายชีมอน โรเด็ด เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอล ประจำประเทศไทย ว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมลงนามความร่วมมือด้านการเกษตรกับประเทศอิสราเอลรอบแรก ช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือครอบคลุมทุกสาขาด้านการเกษตร อาทิ การพัฒนาด้านการเกษตรทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง การพัฒนาด้านสหกรณ์และองค์กรภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศและการแปรสภาพเป็นทะเลทราย รวมถึงการพัฒนาด้านชลประทานที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากอิสราเอลมีความเชี่ยวชาญและมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถออกแบบระบบชลประทานประหยัดน้ำ ที่มีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด เช่น ระบบน้ำหยด และระบบฉีดฝอย

“อิสราเอลเป็นผู้นำด้านการเกษตรประหยัดน้ำ ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในภาคเกษตร ดังนั้นจะเป็นประโยชน์กับการทำเกษตรในประเทศไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอิสราเอล คือ ร้อน แห้งแล้ง และไม่มีน้ำบนผิวดิน ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ไทยได้เรียนรู้  เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

 สำหรับโครงการแปลงสาธิตการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากอิสราเอลภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ฝ่ายไทยเตรียมเสนอ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรและการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ โครงการชลประทานมหาสารคาม จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ดินทรายจัด และดินปนกรวด เกิดภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทุกปี ทำให้แหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอในการทำเกษตร จึงได้นำมาเป็นโครงการนำร่องความร่วมมือจากประเทศอิสราเอลที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี ในการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้สภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำ และความแห้งแล้ง

 นอกจากการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการเกษตรแล้ว อิสราเอลยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 29 ของไทย ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปอิสราเอล ปีละ 4,364 ล้านบาท และมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.82% ต่อปี โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปลาทูน่า ข้าว พืชผัก ผลไม้ สับปะรด เป็นต้น โดยความร่วมมือที่่เกิดขึ้นจะส่งให้ 2 ประเทศมีการค้าการลงทุนสินค้าเกษตรระหว่างกันมากขึ้น