posttoday

ขนส่งปลื้มติดจีพีเอสรถโดยสารช่วยลดอุบัติเหตุได้จริง

24 พฤษภาคม 2560

กรมการขนส่งทางบกเผยติดจีพีเอสรถโดยสารสาธารณะลดอุบัติเหตุได้จริง ลุยติดรถตู้แล้วมากกว่า60% ตั้งเป้าทุกคนต้องมีจีพีเอสภายในปีนี้

กรมการขนส่งทางบกเผยติดจีพีเอสรถโดยสารสาธารณะลดอุบัติเหตุได้จริง ลุยติดรถตู้แล้วมากกว่า60% ตั้งเป้าทุกคนต้องมีจีพีเอสภายในปีนี้

นายสนิท พรหมวงศ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า มาตรการติดตั้งระบบจีพีเอสในรถโดยสารสาธารณะนั้นสามารถเพิ่มความปลอดภัยต่อประชาชนได้เป็นอย่างดีจากการติดตามพบว่ามีการใช้ความเร็วลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ไม่มีอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะ ดังนั้น ขบ.จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้อุบัติเหตุบนท้องถนนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงวันธรรมดา

ด้านนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกติดตั้งระบบจีพีเอสในรถโดยสารสาธารณะแล้วราว 62% แบ่งเป็น รถตู้โดยสาร หมวด 1 วิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5,353 คัน ติดตั้งแล้ว 2,107 คัน คิดเป็นร้อยละ 40.90 หมวด 2 วิ่งกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด 6,338 คัน ติดตั้งแล้ว 5,337 คัน คิดเป็นร้อยละ83.69 หมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัด 3,476 คัน ติดตั้งแล้ว 2,383 คัน คิดเป็นร้อยละ 62.74

ทั้งนี้ในส่วนของรถตู้โดยสารหมวด 2 ได้ครบกำหนดที่จะต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้นหากตรวจพบว่าคันใดยังไม่ได้ติดตั้งจีพีเอสจะถูกปรับหนักสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่รถตู้หมวด 2 และ 3 นั้น จะต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 60 สำหรับรถบรรทุก มีทั้งสิ้น 458,818 คัน ติดตั้งจีพีเอสแล้ว 119,088 คัน คิดเป็น 25.96 ซึ่งในส่วนของรถบรรทุกวัตถุอันตราย ได้เลยกำหนดให้ติดตั้งมาหลายปีแล้ว หากพบเห็นจะโดนปรับในอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปประเภทลากจูง ที่เป็นป้ายส่วนบุคคล ต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 62 และรถบรรทุกป้ายเหลือง ต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 61

นายกมล กล่าวต่อว่า ระบบจีพีเอสประสบความสำเร็จด้านการควบคุมความเร็วรถโดยสารสาธารณะ  ซึ่ง ขบ.ใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อแจ้งไปยังผู้ประกอบการตลอดจนเรียกมาลงโทษกรณีที่ใช้ความเร็วเกินที่กำหนด อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะปรับปรุงแอพลิเคชั่น DLT GPS ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่เปิดให้ประชาชน และผู้ประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถแบบเรียลไทม์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องการตรวจสอบความบกพร่องของตัวรถ และร้องเรียนได้ทันทีหากผู้ขับขี่ฝ่าฝืนกฎหมายการขนส่ง

นอกจากนี้ในอนาคตจะพัฒนาแอพลิเคชั่นให้สามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการทันที และให้ผู้ประกอบการสามารถดึงข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการการเดินรถ และดูแลพนักงานขับรถของตนเองได้ดียิ่งขึ้นด้วย