posttoday

ครม.อนุมัติ 2 ร่างพรก.เดินเรือ-เรือไทยรับ "ไอยูยู" ประเมินก.ค.นี้

23 พฤษภาคม 2560

ครม. ไฟเขียวกฎหมายเดินเรือ รับมือไอยูยูประเมิน ก.ค.นี้ หวังปลดธงเหลืองหนุนสินค้าประมง 2 แสนล้าน

ครม. ไฟเขียวกฎหมายเดินเรือ รับมือไอยูยูประเมิน ก.ค.นี้ หวังปลดธงเหลืองหนุนสินค้าประมง 2 แสนล้าน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร โฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนดการเดินเรือ พ.ศ.... และร่างพระราชกำหนดเรือไทย พ.ศ.... ควบคู่ไปกับกระบวนการถอดถอนร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ 2481 และร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2560   ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา   โดยการเสนอยกร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับได้รวบรวมข้อเสนอการาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิมทั้งหมดรวมกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 10 /2558 เป็นการยกร่างเป็นกฎหมายใหม่เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา ขั้นตอนจากนี้จะเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและส่งกลับมา ครม.เห็นชอบก็สามารถประกาศบังคับใช้ได้ คาดว่าภายในปีนี้

“การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับถือว่าเป็นการพัฒนากฎหมายของประเทศให้มีความเป็นสากลในด้านการ ยับยั้งป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อรองรับการประเมินของสหภาพยุโรปในเดือน ก.ค.นี้  ซึ่งรัฐบาลคาดหวังจะได้รับการปลดลอคใบเหลืองเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในการทำการประมงอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ  ตลอดจนรองรับการตรวจประเมินขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ตามข้อกำหนดของ IMO ซึ่งมีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้าน ”นายจิรุตม์กล่าว

สำหรับการยกร่างกฎหมายใหม่รัฐบาลจะเน้นการปรับปรุงโครงสร้างของรัฐเจ้าของธง(Flag  State Jurisdiction)  รัฐชายฝั่ง(Coastal State Jurisdiction)  และรัฐเมืองท่า (Port  State Jurisdiction)  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลกองเรือไทยตลอดจนระบบการจดทะเบียนเรือไทย การทำนิติกรรมการให้สิทธิเรือไทย รวมถึงการจัดการความปลอดภัยของเรือ อุปกรณ์ประจำเรือ  ความรับผิดชอบของเรือ รวมถึงการอนุญาตและกำหนดจำนวนคนประจำเรือ การกำการเดินเรือและการบริหารจัดการน่านน้ำไทย  จึงเห็นควรให้ปรับปรุงบทบัญญัติในเรื่องการกำกับดูแลกองเรือไทย ระบบการจดทะเบียนเรือไทยด้วย

ส่วนด้านนางจิราภรณ์  จันทรศร รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า ภายในปีนี้น่าจะประกาศบังคับใช้กฎหมายทั้ง  2 ฉบับดังกล่าว แต่อาจไม่ทันภายในเดือน ก.ค.นี้  เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการ แต่เป็นการสะท้อนแนวโน้มของกฎหมายที่จะมีการบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตามกรมเจ้าท่าได้มีการรับจดทะเบียนเรือและออกใบอนุญาตให้กับเรือประมงพาณิชย์ตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป  รวมทั้งสิ้น 11,000 ลำ ที่มีการตรวจสอบเรือ ขึ้นทะเบียนพร้อมกับตีตราอัตลักษณ์ของเรือแต่ละลำเป็นการเฉพาะ  เพื่อป้องกันการลักลอบนำเรือมาหมุนเวียนตรวจสอบแทนเรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย  เป็นเรือที่ถูกกฎหมาย   ส่วนอีก  700 ลำ แม้จะมีการขึ้นทะเบียนเรือแต่ยังไม่มีใบอนุญาตใช้เรือ ต้องรอให้กรมประมงประกาศผลการประเมินค่า MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือกำหนดจำนวนเรือให้สอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำ  เนื่องจากขณะนี้มีเรือบางส่วนที่ถูกยึดใบอนุญาตเพราะดำเนินการไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องรอประกาศที่จะมีการพิจารณาออกใบอนุญาตเพิ่มให้กับเรือในกลุ่มนี้ด้วย