posttoday

ธนารักษ์เบรกประมูลท่าเรือ 17 แห่ง

17 พฤษภาคม 2560

ธนารักษ์ค้านโครงการประมูลค่าเรือ 17 แห่ง เหตุยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกรมเจ้าท่า ปมเรียกเก็บค่าเช่าจากเอกชน

ธนารักษ์ค้านโครงการประมูลค่าเรือ 17 แห่ง เหตุยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกรมเจ้าท่า ปมเรียกเก็บค่าเช่าจากเอกชน

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างและปรับปรุงท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยารวม 17 แห่ง วงเงิน 70 ล้านบาทซึ่งเป็นหนึ่งในแผนแอคชั่นแพลนเฟส 1 ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่ายังไม่สามารถดำเนินการโครงการดังกล่าวเพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลและลงทุนก่อสร้างตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ เนื่องจากกรมธนารักษ์ยังคัดค้านและมีความเห็นไม่สอดคล้องทางด้านการลงทุน อาทิ หลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมและการเรียกเก็บค่าเช่าจากเอกชนที่เข้ามารับสัมปทานในท่าเรือทั้ง 17 แห่ง

สำหรับแนวทางที่กรมธนารักษ์มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาท่าเรือดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าท่าเรือเป็นลักษณะอาคารจึงต้องจัดเก็บภาษีตามมาตรฐานของอาคารซึ่งอยู่ในอัตราขั้นต่ำปีละ 0.3%ของราคาประเมินทรัพย์สิน แต่ในความเป็นจริงตามมุมมองของกรมเจ้าท่านั้นมองว่าท่าเรือทั้งหมดมิใช่อาคารแต่เป็นท่าเรือโดยสารซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรมเจ้าท่า จึงไม่ควรจัดเก็บในอัตราดังกล่าว เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินจริงจนอาจส่งผลให้เอกชนหลายรายตัดสินใจไม่เข้าร่วมลงทุน

"ได้หารือกับกรมธนารักษ์คุยเรื่องนี้กันมา มา2ปี แล้ว ก็ไม่มีข้อยุติ ไม่มีความคืบหน้า ทำให้เปิดประมูลไม่ทันตามเป้าในปี2558เพราะตกลงเรื่องอัตราค่าเช่าไม่ได้ ซึ่ง นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ก็เห็นด้วยกับ จท. จึง นำปัญหานี้ไปหารือกันในระดับนโยบายกับรมว.คลัง ซึ่งทางรมว.คลังก็ยอมรับตามข้อเสนอของ รมช. คมนาคมแล้ว แต่กรมธนารักษ์กลับยังยืนยันในหลักการเดิม ทำให้จำเป็นต้องชะลอการประมูลออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด โดยเร็วๆนี้ จท.จะหาทางออกด้วยการนำเสนอปัญหานี้ให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการท่าเรือในประเทศซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เป็นผู้พิจารณาตัดสินและหาทางออกเรื่องนี้ต่อไป"นายศรศักดิ์กล่าว   

นายศรศักดิ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามถ้าหากยังไม่สามารถเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารท่าเรือทั้ง 17 แห่งได้ผลเสียจะไปตกอยู่ที่งบประมาณของรัฐบาลซึ่งต้องแบกภาระในการดูแลบริหารจัดการ บำรุงรักษาท่าเรือทั้งหมด จนอาจทำให้เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุและต้องรีบหารือให้ได้ข้อสรุปเพื่อหยุดปัญหาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับโครงการดังกล่าว เดิมกรมเจ้าท่าตั้งเป้าจะทยอยเริ่มเปิดประมูลเพื่อให้เอกชนเข้ามาบริหารพร้อมทั้งติดตั้งระบบ E-Ticketg เพื่อนำไปใช้ร่วมกับระบบตั๋วร่วมตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ตลอดจนลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางจากเรือไปยังรถไฟฟ้าและรถประจำทาง รวมทั้งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบท่าเรืออีกด้วย เพื่อยกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือ สำหรับท่าเรือทั้ง 17 แห่งประกอบด้วย ท่าเรือสมุทรปราการ ท่าเรือวัดบางหัวเสือ ท่าเรือวัดบางกะเจ้านอก ท่าสาธรฝั่งพระนคร ท่าสี่พระยา ท่ากรมเจ้าท่า ท่าราชวงศ์ ท่าดินแดง ท่าสะพานพุทธ ท่าราชินี ท่าช้าง ท่าพรานนก ท่าเทเวศน์ ท่าเกรียกกราย ท่าเตียน ท่าเขียวไข่กา และท่าพระราม 5