posttoday

ชงแนวทางล้อมคอกหลังเหตุคานเหล็กรถไฟฟ้าหล่น

11 พฤษภาคม 2560

วสท.-รฟท.ออกแนวทางป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า หลังเหตุคานเหล็กหล่นทับคนงานดับ

วสท.-รฟท.ออกแนวทางป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า หลังเหตุคานเหล็กหล่นทับคนงานดับ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุเครนร่วงหล่นลงมาบริเวณด้านหน้าวัดดอนเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างยิ่ง และให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการ ดังนี้

1. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างฯ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ก่อสร้าง กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ บริษัทที่ปรึกษาคุมงาน วิศวกรและผู้รับเหมา ให้เข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย ขั้นตอนในการก่อสร้างตามข้อกำหนดในสัญญาและข้อกฎหมาย รวมทั้งต้องจัดทำแผนการกำกับและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง (Safety Audit Plan)

2. เมื่อเกิดเหตุขัดข้องในกระบวนการทำงาน ก่อนแก้ไขเหตุขัดข้องใด ๆ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานและประชาชน และการแก้ไขเหตุขัดข้องต้องเป็นไปตามขั้นตอนการทำงานและมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

3. เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องเร่งดำเนินการเยียวยาและชดเชยผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด และต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบ

ขณะที่ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอุบัติเหตุดังกล่าวและได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว โดยแจ้งให้โครงการฯ ผู้รับจ้างบริษัท อิตาเลียนไทยฯนำชิ้นส่วนเหล็ก PT Bar ไปทดสอบการวิเคราะห์ชิ้นงานแบบทำลายของเหล็ก PT Bar ด้วยวิธีการ Microstructure Test โดยผู้รับจ้างบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ปรึกษาควบคุมงาน CSC และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง นำชิ้นส่วนเหล็ก PT Bar ในที่เกิดเหตุนำไปทดสอบที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ต้องใช้เวลาทดสอบประมาณ 2 เดือน จึงจะทราบผลจากนั้นโครงการฯ จะนำผลการทดสอบดังกล่าวนำส่งให้เป็นทางการ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ความสอดคล้องตามข้อสันนิษฐานทางวิศวกรรมเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงต่อไป โดยวสท.ได้ร่วมกับรฟท.ออกแนวทางเพื่อป้องกันในอนาคตดังนี้

1) เพิ่มความแข็งแรงของการยึด ชุดล้อเลื่อน คานเหล็ก และขายึด ให้ติดกับเสาตอม่อให้แข็งแรงขึ้น ให้สามารถรับน้ำหนักแนวราบในทางเดินหน้า และถอยหลังไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนัก (โครงเหล็ก 360 ตัน) และไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของน้ำหนัก โครงเหล็ก และน้ำหนักชิ้นส่วนคานคอนกรีต 129 ตัน ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่นเพิ่มคานเหล็กและ PT Bar รัดขาเหล็กติดกับเสาโดยมี Safety factor ที่เหมาะสม

2) ติดตั้ง limit switch เพื่อจำกัด แรงดัน และแรงดึงที่ควบคุมการ เดินหน้า และถอยหลังโครงเหล็ก ให้มีค่าแรงไม่เกินแรงที่ใช้ออกแบบ

3) จัดอบรมพนักงาน ช่างเทคนิคและคนงานที่ทำการติดตั้งโครงสร้างชิ้นส่วนคานคอนกรีตที่มีน้ำหนัก ให้มีเข้าใจขั้นตอนที่ถูกต้อง และขีดจำกัดของอุปกรณ์

4) จัดให้มีวิศวกรหรือช่างเทคนิค ให้มีหน้าที่ตรวจสอบขั้นตอนการทำงานอย่างเข้มงวด หากพบการทำงานผิดขั้นตอนหรือลัดขั้นตอนให้ถือว่า พนักงานหรือคนงานจงใจกระทำผิดเพื่อเป็นการบ่อนทำลายให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานก่อสร้าง ความผิดเทียบเท่าการกระทำผิดวินัยขั้นร้ายแรง ให้ลงโทษขั้นสูงสุด

5) ให้มีการรัดหัวเสาเหล็กโดยรอบทุกตัว

6) ในกรณีที่เกิดความขัดข้องเครื่องจักรอุปกรณ์ระหว่างปฏิบัติงานต้องหยุดดำเนินการทันที และให้แจ้งวิศวกรควบคุมและหัวหน้าโครงการทันที

7) กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้คนทำงานอยู่บริเวณเสาตัวแรกของการยกอุปกรณ์

8) กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้รถผ่านไปมาระหว่างการยกแท่งเหล็ก

9) ติดตั้งวัสดุทึบป้องกันวัสดุตกหล่นจากที่สูง

10) ต้องทำการตรวจ Launching truss ทุกตัว