posttoday

คมนาคมชงเพิ่มค่าปรับเจ้าของอู่ ล้อมคอกแท็กซี่นอกลู่

29 เมษายน 2560

รองปลัดคมนาคม เตรียมเสนอ ขนส่งทางบกกลาง 8 พ.ค.นี้ เพิ่มค่าปรับ ผู้ประกอบการแท็กซี่ เป็น 5 หมื่นบาท หากคนขับทำผิดกฎหมาย หวังเข้มงวดคัดกรองคนขับก่อนปล่อยรถออกไปให้บริการ

รองปลัดคมนาคม เตรียมเสนอ ขนส่งทางบกกลาง 8 พ.ค.นี้ เพิ่มค่าปรับ ผู้ประกอบการแท็กซี่ เป็น 5 หมื่นบาท หากคนขับทำผิดกฎหมาย หวังเข้มงวดคัดกรองคนขับก่อนปล่อยรถออกไปให้บริการ

จากกรณีแท็กซี่ข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวบราซิล จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง วันที่ 8 พ.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้เพิ่มโทษผู้ประกอบการแท็กซี่รวมถึงการเพิ่มค่าปรับเจ้าของอู่หรือผู้ประกอบการเป็น 5 หมื่นบาท ในฐานะที่ปล่อยให้ผู้ไม่ใบอนุญาตขับขี่หรือไม่มีประวัติส่งให้กับกรมการขนส่งทางบกนำรถแท็กซี่ออกไปให้บริการแล้วไปทำผิดกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการคัดกรองคนขับแท็กซี่ของตัวเองมากยิ่งขึ้น 

“ผมจะนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมขนส่งทางบกกลางเองเลย เพราะเชื่อว่าหากผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อเกิดการกระทำความผิด ก็จะช่วยให้เข้มงวดกับคนขับแท็กซี่มากขึ้นด้วย”นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั้นมาจากคนขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวเป็นพวกนอกระบบ ไม่มีรายละเอียดประวัติในฐานข้อมูล จึงต้องไปดูที่ตัวผู้ประกอบการซึ่งต้องรับผิดชอบ โทษต้องหนักขึ้นไปอีกหากมีการกระทำผิดลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในสังคม ซึ่งนอกจากเรื่องของค่าปรับแล้ว ก็อาจจะมีการเพิ่มโทษอื่นที่รุนแรงขึ้นด้วย เช่น การพักใบอนุญาตแบบยาวไปเลย เป็นต้น

“ตอนนี้กฎหมายยังลงโทษได้เท่านี้ คือ ปรับ 3 พันบาท ดังนั้นก็อาจจะต้องกำหนดเป็นนโยบายแทน เบื้องต้นได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในแนวทางคล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือการเพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการเป็น 5 หมื่นบาท พร้อมบังคับให้รถที่มีอยู่ของบริษัททั้งหมดต้องนำมาตรวจสภาพใหม่ ซึ่งจะเกิดต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น เมื่อเกิดต้นทุนสูงขึ้น ก็จะเข้มงวดกับคนขับรถของบริษัทมากขึ้น ซึ่งนายอาคม ก็เห็นด้วย”นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเพิ่มโทษแบบนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุขึ้นมาอีกเพราะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะสูงตามไปด้วย กรณีรถแท็กซี่ที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าทำผิดกฎหมายทุกเรื่อง ดังนั้นคนที่เป็นผู้ประกอบการก็ต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ใครเอาเงินมาจ่ายให้ก็ปล่อยรถไป ต่อไปก็ต้องรอบคอบ เพราะเมื่อปล่อยรถไปได้ 800 บาท ทำผิดมาถูกปรับ 5 หมื่นบาท ซึ่งก่อนหน้านี้กรมการขนส่งทางบก โดยกองตรวจการขนส่งทางบก ได้ลงโทษผู้ประกอบการหรือสหกรณ์แท็กซี่ที่ปล่อยให้ผู้ไม่มีใบขับขี่สาธารณะนำรถแท็กซี่ออกไปให้บริการ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยได้สั่งเพิกถอนทะเบียนรถแท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน ทย 4448 กรุงเทพมหานคร สั่งสหกรณ์ระงับการเพิ่มรถเป็นเวลา 6 เดือน ปรับฐานยินยอมให้ผู้ซึ่งไม่ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะเข้าขับรถของตน ตามมาตรา 56 ประกอบมาตรา 60 ในอัตราสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท และปรับฐานไม่จัดส่งประวัติผู้ขับรถให้นายทะเบียน ตามมาตรา 5(15) ประกอบมาตรา 58 ในอัตราสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท พร้อมส่งตัวเข้าดำเนินคดีตามกฎหมายตามข้อหาความผิด