posttoday

สงครามการค้าโลกระอุ ปิดประตูรับ-หันผลิตเอง

20 มีนาคม 2560

การประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ (จี20)

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

การประชุมของรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ (จี20) ในช่วงวันที่ 17-18 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือการไม่ให้คำมั่นต่อการค้าเสรีและจะต่อต้านลัทธิปกป้องการค้ากลายเป็นสัญญาณเตือนถึงสงครามการค้าที่ระอุขึ้นทุกขณะ

นอกเหนือไปจากการส่งสัญญาณผ่านแถลงการณ์ร่วมของ จี20 แล้ว ความเคลื่อนไหวในการผลักดันนโยบายผลิตในชาติ “เมด อิน ...” เช่น สหรัฐ จีน และอินเดีย ยังเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงถึงลัทธิปกป้อง (Trade Protectionism) และสงครามการค้าอีกด้วย และยังมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบไปทั่วโลก

สำหรับสหรัฐนโยบายต่างๆ ในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงออกชัดเจนถึงการ “ลดการนำเข้า หันผลิตในประเทศ” โดยเฉพาะนโยบายภาษีที่พรรครีพับลิกันเสนออย่าง Border Adjustment Tax (BAT) ซึ่งจะเก็บภาษีหากมีการส่งออกและหักลบไปจากการคำนวณภาษีหากมีการนำเข้า เพื่อจูงใจให้เอกชนสหรัฐหันมาผลิตในประเทศมากขึ้นและลดการนำเข้าลง

นโยบายภาษีดังกล่าวหากผ่านสภาคองเกรสและมีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าที่ผู้บริโภคอ่อนไหวต่อการขึ้นราคาสินค้ามาก เช่น เสื้อผ้าและสินค้าตามร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากหากมีการขึ้นภาษี 20% มีความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน โดยสำหรับเสื้อผ้าและรองเท้าของสหรัฐนั้น กระบวนการผลิตแทบจะอยู่นอกประเทศหมดเกือบ 100%

การตั้งภาษี BAT จึงมีแนวโน้มกระทบกับสินค้าแบรนด์หรู ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทวีปยุโรปด้วยเช่นกัน โดยจากการคำนวณของธนาคารบาร์เคลย์ส พบว่า หากมีการใช้ BAT ที่ 20% จะส่งผลกระทบกับรายได้ของมัลเบอร์รี่ และ จิมมี่ ชู แบรนด์จากอังกฤษมากที่สุด 16% และ 13% ตามลำดับ ก่อนตามมาด้วยแบรนด์สัญชาติจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างแคริ่ง บริษัทเจ้าของแบรนด์ดัง อาทิ กุชชี่ และ อีฟ แซงต์-โลรองต์ สัญชาติฝรั่งเศสที่ 9%

นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์อื่นๆ เช่น ฮิวโก้ บอส จากเยอรมนีที่มีแนวโน้มต้องสูญรายได้ 8% และแอลวีเอ็มเอช เจ้าของแบรนด์หลุยส์วิตตองจากฝรั่งเศส คาดจะสูญรายได้ 5% หาก BAT มีผลบังคับใช้ แม้แบรนด์เนมเหล่านี้ ลูกค้าจะอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่าเสื้อผ้าราคาถูกก็ตาม

อียูเป็นกลุ่มชาติที่มีท่าทีต่อต้านลัทธิปกป้องการค้าตลอดมา โดยก่อนการประชุมรัฐมนตรีคลัง จี20 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานอ้างเอกสารของสหภาพยุโรประบุว่า บรรดารัฐมนตรีจากประเทศอียูจะพยายามผลักดันให้การค้าโลกยังคงเปิดกว้างเสรี ต่อต้านลัทธิปกป้องการค้า และให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ความพยายามดังกล่าวประสบกับความล้มเหลว เมื่อแถลงการณ์ร่วมของ จี20 ไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาดังกล่าวได้

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเดินหน้าคัดค้านนโยบายไชน่า แมนูแฟกเจอริ่ง 2025 หรือที่มีชื่อเล่นว่า “เมด อินไชน่า 2025” โดยเป็นนโยบายที่จีนเตรียมผลักดันการผลิตใน 10 อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงหุ่นยนต์ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีแห่งอนาคตอื่นๆ ภายในปี 2025

การผลักดันดังกล่าวจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของจีน โดยแม้จีนจะเป็นโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนให้กับโลกคิดเป็นสัดส่วน 90% และผลิตคอมพิวเตอร์ 80% เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา แต่การผลิตยังคงเป็นการผลิตที่ได้คุณประโยชน์ต่ำ กินพลังงาน และยังสร้างมลพิษอย่างมาก

ทว่านโยบายดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับต่างชาติ เนื่องจากในปัจจุบันจีนมีการจำกัดการเข้าถึงตลาดและยังมีการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนส่งผลให้บริษัทต่างชาติยากจะแข่งขันกับบริษัทจีนอยู่แล้ว

เห็นได้ชัดจากการออกรายงานจำนวน 70 หน้า เพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเมดอินไชน่า 2025 โดยเฉพาะของหอการค้าอียูในกรุงปักกิ่ง โดยระบุว่านโยบายดังกล่าวเป็นการกดดันผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความรู้และเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ต้องยอมแลกเทคโนโลยีแบตเตอรี่กับพาร์ตเนอร์ในจีน เพื่อที่จะได้ออกขายรถยนต์ในตลาดจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน หลังจีนกำหนดให้ต้องมีพาร์ตเนอร์ในจีนเพื่อขายสินค้า

“ธุรกิจยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันให้ต้องยอมส่งมอบเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่อแลกกับการได้เข้าสู่ตลาดเป็นระยะสั้น” รายงานดังกล่าวระบุ โดยนอกเหนือไปจากการบังคับให้ทำพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิตในจีนแล้ว รายงานดังกล่าว ระบุว่า จีนยังมีการอุดหนุนผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและไฮบริดซึ่งอาจเป็นการทำผิดกฎขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ)

ไม่เพียงแต่ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น อียูยังมีปัญหากับเหล็กเมดอินไชน่า ด้วยเช่นกัน เนื่องจากจีนส่งออกเหล็กราคาถูกเข้าไปในอียูและทำให้ผู้ผลิตอียูต้องเผชิญกับภาวะย่ำแย่ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาโภคภัณฑ์ตกต่ำ ถึงขั้นทำให้อียูออกมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด ด้วยการตั้งกำแพงภาษีเหล็กจีนระหว่าง 65.1-73.7% สำหรับแผ่นเหล็ก และ 13.2-22.6% สำหรับเหล็กม้วน

อียูไม่ใช่เจ้าเดียวที่มีมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด อินเดียเมื่อกลางปี 2016 ที่ผ่านมา ก็เริ่มสอบสวนเหล็กจีนเช่นกัน ซึ่งจีนระบุว่าเป็นการปกป้องการค้าจากจีนเพื่อสนับสนุนเหล็กเมดอินอินเดีย ขณะที่เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา อินเดียเตรียมที่จะใช้เหล็กผลิตจากภายในประเทศและลดการใช้เหล็กจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน เพื่อโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2017-2018

“การจัดซื้อในรูปแบบดังกล่าว จะช่วยยกระดับดีมานด์และการผลิตและเป็นการผลิตด้วยและพ่วงด้วยเมดอินอินเดียของแท้” โชดรี ไบเรนเดอร์ ซิงห์ รัฐมนตรีเหล็กอินเดีย กล่าวโดยอินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการส่งเสริมการผลิตในประเทศ หรือ “เมดอินอินเดีย”

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่านโยบายดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับนโยบายของทรัมป์ในการจะใช้เหล็กเมดอินยูเอสเอ เพื่อการสร้างโครงการท่อส่งพลังงาน 2 แห่ง และอาจเป็นไปได้ที่จะผิดกฎของดับเบิ้ลยูทีโอ

ทั้งสหรัฐ จีน และอินเดีย จึงเป็นตัวอย่างของการใช้นโยบาย “เมด อิน ...” เพื่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ และในขณะเดียวกันยังมีการตั้งคำแพงปิดรับสินค้าจากภายนอก โดยหลายฝ่ายยังคงวิตกว่าอาจเกิดการตอบโต้ไปมาซึ่งกันและกันจนก่อเป็นสงครามการค้าครั้งใหญ่ในที่สุด ซึ่งคำมั่นที่จะสนับสนุนการค้าเสรีที่หายไปในการประชุม จี20 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้แนวโน้มจะเกิดเรื่องดังกล่าวสูงขึ้นอย่างยากที่จะปฏิเสธได้