posttoday

ไฮสปีดกทม.-หัวหินส่อช้าชูแผนพัฒนาที่ดินดึงเอกชน

21 กุมภาพันธ์ 2560

ไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหินส่อแววล่าช้า ส่วนเส้นกรุงเทพฯระยองปรับแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้สัมปทาน 30 ปี จูงใจเอกชน

ไฮสปีดกรุงเทพฯ-หัวหินส่อแววล่าช้า ส่วนเส้นกรุงเทพฯระยองปรับแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ให้สัมปทาน 30 ปี จูงใจเอกชน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท มีโอกาสดำเนินการล่าช้ากว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ รฟท.กลับไปเปิดรับฟังความคิดเห็น (มาร์เก็ต ซาวดิ้ง) ใหม่เป็นครั้งที่สอง หลังจากมาร์เก็ต ซาวดิ้งที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมความเห็นภาคเอกชนและนักลงทุน ตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คาดว่าจะใช้เวลาราว 2 เดือนเพื่อเปิดการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-ระยองระยะทาง 193.5 กม. วงเงิน 1.52 แสนล้านบาทนั้นยังไม่ได้ส่งเรื่องไปให้ สคร.พิจารณา เพราะติดประเด็นเรื่องความครบถ้วนของ การจัดทำรายละเอียดเกี่ยวแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณชุมทางเขา ชีจรรย์ที่มีมากถึง 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้ รฟท.ได้ดำเนินการข้อมูลเพิ่มเติมและส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

สำหรับรูปแบบการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงทั้งสองเส้นทางมีโอกาสใช้รูปแบบ PPP Net Cost เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง คือภาครัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อโครงการให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น ส่วนเอกชนเป็นผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและบำรุงรักษารวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารมีระยะเวลาสัมปทานประมาณ 30 ปี

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากประชุมร่วมกับ รฟท. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุม ว่าขณะนี้โครงการรถความเร็วสูงไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-โคราชระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังติดปัญหาเรื่องถอดแบบโครงสร้างมาตรฐานของจีนให้เหมาะสมกับมาตรฐานการก่อสร้างของประเทศไทย

ทั้งนี้ การถอดแบบช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศกระยะทาง 3.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตรระยะทาง 11 กิโลเมตร คืบหน้า 80% คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงปลายเดือน มี.ค.

ภาพประกอบข่าว