posttoday

เร่งคืนสิทธิที่ดินเกษตรกร

04 ตุลาคม 2559

เกษตรฯ ลงนามเอ็มโอยู ธ.ก.ส.-บจธ.นำร่องปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเกษตรกร 800 ราย 202 ล้าน คืนสิทธิที่ดินทำกินจากหนี้นอกระบบ

เกษตรฯ ลงนามเอ็มโอยู ธ.ก.ส.-บจธ.นำร่องปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเกษตรกร 800 ราย 202 ล้าน คืนสิทธิที่ดินทำกินจากหนี้นอกระบบ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) สำหรับการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดินปี 2559 กับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ดีในช่วงที่ผ่านมา มีปัจจัยมาจากสภาพดินฟ้าอากาศ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้เกษตรกรเกิดปัญหาหนี้สินจนบางรายถึงขั้นต้องเสียสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินของตัวเองไป โดยนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือ การเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

 “กระทรวงเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร โดยเฉพาะที่ดินที่ถูกนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินจนอาจถูกยึดที่ดินทำกินไป เบื้องต้นมีเกษตรกรที่ผ่านการอนุมัติให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) กว่า 808 ราย รวมวงเงิน 202.74 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรกลุ่มนี้ ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยยังมีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อชก. อีกจำนวน 330 ราย รวมเป็นวงเงิน 323.17 ล้านบาท ที่จะทยอยพิจารณาอนุมัติออกมา” นายธีรภัทร กล่าว

ทั้งนี้ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2559 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยพบว่าหนี้สินเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบที่มีภาระในการผ่อนชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูง โดยใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนหมุนเวียน เพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ. 2546 และข้อบังคับ บจธ.ว่าด้วยการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินเกษตรกรรม พ.ศ. 2559 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและช่องทางให้เกษตรกรมีโอกาสในการรักษาสิทธิในที่ดินตัวเองต่อไป

นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวว่า เกษตรกรกลุ่มแรกๆ จะเข้าไปช่วยเหลือคือ กลุ่มเกษตรกรที่มีแนวโน้มที่ดินทำกินหลุดจำนองแน่นอนและกลุ่มที่ขายฝาก โดยเบื้องต้นจะปล่อยสินเชื่อเงินกู้วงเงินรายละ 8 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่ปัจจุบันคิดกันในอัตรา 15% ต่อปี หรือบางรายต่อเดือนก็มี ซึ่งเกษตรกรที่มีสิทธิได้รับพิจารณาสินเชื่อจะต้องมีภาระหนี้นอกระบบอย่างหนักจากการกู้หนี้มาใช้ทำการเกษตรและเป็นเจ้าของที่ดินเอง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 5-10 ไร่

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนต่อไปที่ บจธ.กำลังดำเนินการคู่ขนานกับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรที่จ่อจะเสียสิทธิในที่ดินทำกินตัวเองคือ การเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าของที่ดินทำกินเกษตรที่หลุดจำนองไปแล้ว เพื่อซื้อที่ดินเกษตรคืนก่อนจะจัดสรรให้เกษตรกรที่ยากจนและไร้ที่ดินทำกินต่อ โดยคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลและเริ่มจัดสรรได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้

 “เกษตรกรที่มีที่ดินหลุดมือไปแล้ว ปัจจุบันมีหลายแสนครอบครัวต้องเช่าที่นาตัวเองทำนา ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ทาง บจธ.มีงบประมาณเพื่อเข้าไปซื้อที่ดินว่างเปล่านำมาจัดสรรให้กับกลุ่มสหกรณ์และเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน (รับจ้างทำนา) รวมทั้งเจรจากับเจ้าของที่ดินใหม่ที่เกษตรกรขายและเช่าที่ดินตัวเอง เพื่อซื้อที่ดินคืนแล้วให้เกษตรกรมาผ่อนกับ บจธ.หรือ ธ.ก.ส.แทน เพื่อให้เกษตรกรกลับมาเป็นเจ้าของเอง” นายสถิตย์พงษ์ กล่าว