posttoday

ดันรถอีวี-ไฟฟ้าทดแทน24ชม.

14 กันยายน 2559

”อนันตพร” เร่งยุทธศาสตร์พลังงานรับไทยแลนด์ 4.0 ชูรถยนต์อีวี-โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบ Firm

อนันตพร” เร่งยุทธศาสตร์พลังงานรับไทยแลนด์ 4.0 ชูรถยนต์อีวี-โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบ Firm

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้มอบนโยบายกับหน่วยงานในสังกัดเน้นการจัดทำยุทธศาสตร์พลังงานแต่ละด้านต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานในยุคไทยแลนด์ 4.0

“สิ่งที่กระทรวงพลังงานได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบ Firm ที่กำหนดระยะเวลาและปริมาณซื้อขายไฟฟ้าที่ชัดเจน และการส่งเสริมให้มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่จะนำมาใช้กับพลังงานทดแทนที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายทวารัฐ กล่าว

สำหรับแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีเป้าหมายทั้งการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ผลักดันให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ซึ่งแบ่งภารกิจด้านพลังงานแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยช่วงนี้อยู่ในระยะที่ 1 (ระหว่างปี 2559-2560) ซึ่งเป็นขั้นของการเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำร่องโครงการจัดหารถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า 200 คัน โดยมีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้ารองรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า 4 สถานี เป็นต้น

ด้าน สนพ.ร่วมกับสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดทำโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการ 20 หัวจ่าย รัฐวิสาหกิจ 20 หัวจ่าย และภาคเอกชน 60 หัวจ่าย หรือเป็นจำนวน 100 สถานี โดยจะขอสนับสนุนงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 76 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการระหว่างวันที่ 12-16 ก.ย. หลังจากนั้นจะทยอยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการในรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 3-24 ต.ค. 2559 รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-20 ธ.ค. 2559 และรอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-20 ก.พ. 2560

อย่างไรก็ตาม แผนรถยนต์อีวีระยะที่ 2 (ปี 2561–2563) จะเป็นช่วงของงานวิจัยในด้านสมรรถนะแบตเตอรี่ มอเตอร์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนรถและจุด Charging Station ให้เพียงพอ และระยะที่ 3 (ปี 2564 เป็นต้นไป) เป็นช่วงขยายผล สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการมีการจัดตั้งคณะทำงานและจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐและตัวแทนภาคเอกชนเป็นคณะทำงาน