posttoday

แผนเปิดเสรีสะดุด หันนำเข้าแอลพีจี

02 สิงหาคม 2559

ถกเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี ยังไม่สรุป หลังยอดใช้ในประเทศแกว่งตัว พร้อมตรึงราคารีดเงินสะสมเข้ากองทุนน้ำมันฯ

ถกเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี ยังไม่สรุป หลังยอดใช้ในประเทศแกว่งตัว พร้อมตรึงราคารีดเงินสะสมเข้ากองทุนน้ำมันฯ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุม กบง.ได้พิจารณาแผนส่งเสริมเปิดเสรีนำเข้าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) (โรดแมป) พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องทบทวนแผนการนำเข้าแอลพีจี โดยกลับมานำเข้าในเดือน ส.ค. จากเดิมที่ไม่ต้องนำเข้า

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องกลับมานำเข้าแอลพีจีในเดือน ส.ค. เนื่องจากปริมาณผลิตในประเทศยังแกว่งตัว จากกรณีโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งหยุดซ่อมฉุกเฉิน ปตท.ต้องขอนำเข้าแอลพีจีประมาณ 1 ลำเรือ หรือ 4 หมื่นตัน รองรับการใช้ได้ในช่วงระยะเวลา 1-2 เดือน อย่างไรก็ตามโรดแมปแอลพีจีเสรียังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนยังต้องหารืออีกระยะหนึ่ง

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังมีมติคงราคาขายปลีกแอลพีจีเดือน ส.ค. ไว้ที่ 20.29 บาท/กิโลกรัม แม้ราคาแอลพีจีตลาดโลกจะปรับลดลง 14 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 287 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35.24 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาทั้งระบบปรับลดลง 32 สตางค์/กิโลกรัม แต่เพื่อเป็นการลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ จึงเห็นควรให้ปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จาก 6 สตางค์/กิโลกรัม เป็น 39 สตางค์/กิโลกรัม

สำหรับการปรับอัตราเงินนำส่งดังกล่าวจะส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของแอลพีจีมีรายรับประมาณ 133 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 31 ก.ค. 2559 อยู่ที่ 44,268 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ในส่วนของบัญชีแอลพีจีอยู่ที่ 7,148 ล้านบาท 2.ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 37,120 ล้านบาท

ขณะที่การติดตามสถานการณ์ไบโอดีเซล (บี100) คงต้องรอให้กระทรวงพาณิชย์แจ้งถึงปริมาณสำรองที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าสต๊อก บี100 เหลือเพียง 1.8 แสนตัน ดังนั้นหากจะลดสัดส่วนการผสมกับดีเซลจาก 5% เหลือ 3-3.5% คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกให้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร (โซลาร์ฟาร์มราชการ) จำนวน 67 ราย รวมกำลังผลิต 281.32 เมกะวัตต์ ส่วนเฟส 2 อีก 519 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างปรับเงื่อนไขใหม่คาดว่าจะเริ่มโครงการในเดือน ส.ค.นี้