posttoday

จีนรุกทำธุรกิจผลไม้ในไทยแบบครบวงจร

08 กรกฎาคม 2559

จีนรุกคืบทำธุรกิจผลไม้ในไทยแบบครบวงจร หวั่นระยะยาวกำหนดราคาสินค้าเองไม่ได้ แถมไม่เหลือพื้นที่ให้คนไทยทำ แนะรวมกลุ่มสหกรณ์ขาย

จีนรุกคืบทำธุรกิจผลไม้ในไทยแบบครบวงจร หวั่นระยะยาวกำหนดราคาสินค้าเองไม่ได้ แถมไม่เหลือพื้นที่ให้คนไทยทำ แนะรวมกลุ่มสหกรณ์ขาย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีล้งจีนทั้งที่เป็นบริษัทร่วมทุน และนอมินีเพื่อทำธุรกิจผลไม้ในประเทศไทยเพื่อส่งกลับตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น จึงมีการวิตกกะนว่าในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการล้งไทยและตลาดในประเทศ เพราะการจะแข่งขันกับล้งจีนทำได้ยาก เนื่องจากล้งไทยอาจจะมีเงินทุนไม่สูงเท่า รวมทั้งล้งจันได้มีการขยายเข้าไปทำการรับซื้อลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆ ด้วย

"ขณะนี้พบว่าล้งจีนไม่ใช่แค่รับซื้อผลไม้จากผู้รวบรวมอย่างเดียว แต่เข้าไปซื้อแบบเหมาสวน หากมองระยะสั้นอาจเป็นผลดีต่อเกษตรกรไทย เพราะมีตลาดแน่นอน ราคาไม่ตก แต่การรุกคืบเข้ามาทำธุรกิจผลไม้แบบครบวงจร จนเกือบไม่เหลือพื้นที่ทำธุรกิจให้คนไทย ซึ่งการที่ล้งจีนมีตลาดอยู่ในมือ ทำให้อนาคตสามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ตามที่ต้องการ ซึ่งปล่อยไว้ในระยะยาวจะไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจผลไม้ไทยทั้งระบบ" นายอัทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ การปล่อยให้ล้งจีนเข้าถึงสวน ในอนาคตอาจจะไม่มีผลไม้ส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปหรือส่งออกจากไทยได้ ดังนั้นจะต้องมีกฎหมายดูแลให้ยุติธรรมเรื่องการจดทะเบียนนิติบุคคล การเสียภาษีที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ หรือการลงทุนและโอนเงินจากจีนเข้ามามีการเสียภาษีหรือไม่

ทั้งนี้ สาเหตุที่ล้งจีนเข้ามาอย่างรวดเร็วคือ กฎหมายการนำเข้าผลไม้ของจีนระบุว่า ต้องนำเข้าผ่านบริษัทจีน ซึ่งนักธุรกิจไทยไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทอะไรได้เลย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการล้งจันในไทยจำนวน 1,090 ราย แบ่งเป็นผู้ค้าลำไย 473 ราย ทุเรียน 556 ราย และมังคุด 65 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรีและตราด

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ทางออกของผู้ประกอบการผลไม้ไทยตอนนี้คือ เกษตรกรจะต้องรวมตัวกันผลิตและขายแบบสหกรณ์ ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพมาตรฐานโลก ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า เช่น เก็บแบบแช่แข็งแปรรูป หรือเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในท้องถิ่นทำเป็นฟาร์มเอาต์เลต และมองตลาดภายในเพิ่มขึ้น โดยการใช้ประโยชน์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษตราดเป็นศูนย์รวมและหระจายผลไม้ หรือตลาดกลางภายในประเทศกระจายผลผลิต

ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องเร่งจัดโซนนิ่งให้ชัดก่อนที่จะไม่มีคนทำเกษตรกรรม เพราะผลไม้ไทยมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับในพื้นที่ปลูกในโลก อีกทั้งผลไม้บางอย่างประเทศอื่นก็สามารถปลูกได้แล้ว