posttoday

ขุมทรัพย์'ดิวตี้ฟรี' ขุมพลัง'คิง เพาเวอร์'

19 มิถุนายน 2559

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 24 ปีก่อน “กลุ่มคิง เพาเวอร์” และ วิชัย ศรีวัฒนประภา (รักศรีอักษร) เป็นชื่อที่สังคม

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจมหภาคโพสต์ทูเดย์

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 24 ปีก่อน “กลุ่มคิง เพาเวอร์” และ วิชัย ศรีวัฒนประภา (รักศรีอักษร) เป็นชื่อที่สังคมทั่วไปแทบไม่มีใครรู้จัก แต่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดสัมปทานในบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ตั้งแต่ยังใช้ชื่อ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2536

ในช่วงปี 2536 กลุ่มคิง เพาเวอร์ เริ่มต้นด้วยการได้รับสัมปทานขายสินค้าและของที่ระลึก ที่สนามบินกรุงเทพ (สนามบินดอนเมือง) สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ จากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในนาม “บริษัท เจ.ที.เอ็ม. กรุ๊ป” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท คิง พาวเวอร์ แท็กซ์ฟรี” โดยอายุสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2540 และต่อมาธุรกิจด้านการขายสินค้าและของที่ระลึกของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับการต่ออายุสัมปทานอีก 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกระหว่างปี 2541-2546 และครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2546-2549 หรือจนกว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการ

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญน่าจะอยู่ในช่วงปี 2540 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับสัมปทานให้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ จาก ทอท. ในนาม “บริษัท เจ.ที.เอ็ม.ดิวตี้ฟรี” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี โดยสัมปทานร้านค้าปลอดอากรครั้งนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2544 และต่อมาได้รับการต่ออายุสัมปทานอีกครั้งในปี 2545-2549 หรือจนกว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการ พร้อมทั้งได้รับอนุญาตจาก ทอท.ให้ดำเนินการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง

ส่งผลให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ผูกขาดการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในสนามบินของ ทอท. 4 แห่ง เพียงเจ้าเดียว และหลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายสนามบินเดียว คือ ปิดสนามบินดอนเมือง และเปิดใช้งานสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2548 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับสัมปทานผูกขาดร้านค้าปลอดอากรเพียงรายเดียว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินหาดใหญ่ เป็นเวลา 10 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2548-31 ธ.ค. 2558 ซึ่งสัญญาดังกล่าวลงนามกันเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2547

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง 2 ครั้ง คือ ในคราวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปิดสนามบินเมื่อปี 2549 และเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในปี 2552-2553 ทอท.ได้มีมาตรการเยียวผลกระทบให้ผู้ประกอบการในสนามบิน ทอท. โดยขยายอายุสัญญาให้ครั้งละ 2 ปี รวมเป็น 4 ปี ส่งผลให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้สิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีที่สนามบินสุวรรณภมิและสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง ไปจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2563

ขณะที่ในปี 2548 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ในนาม “คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ” ชนะการประมูล “พื้นที่เชิงพาณิชย์” ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เหนือคู่แข่ง 4 เจ้า ที่เข้าร่วมแข่งประมูล คือ กลุ่มบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล กลุ่มบริษัท มาสเตอร์ มายนด์ กลุ่มบริษัท เอื้อวัฒนสกุล และกลุ่มบริษัท อิมพีเรียล พลาซ่า และสามารถคว้าสัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์มาได้ 10 ปี หรือตั้งแต่เดือน มี.ค. 2548-2558 และได้สิทธิประโยชน์จากการเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองไปจนถึงปี 2563 และถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในการเปิดร้านขายสินค้าปลอดอากรกลางกรุงเทพฯ ที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ เป็นเจ้าของ

เพราะทีโออาร์ใน 2.1.1 ระบุ “ผู้รับอนุญาตจะได้รับสิทธิให้ดำเนินการพัฒนาตลอดจน ‘บริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์’ สำหรับร้านค้าย่อย หรือบริการต่างๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal Complex) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ขอบเขตของโครงการไม่รวมถึงการดำเนินงานต่อไปนี้ 1) ร้านค้าปลอดอากร 2) การบริหารกิจกรรมการโฆษณา และ 3) กิจกรรมการให้บริการด้านการขนส่งให้กับผู้โดยสารของท่าอากาศยาน เช่น รถแท็กซี่ รถบัส รถลีมูซีน เป็นต้น”

จึงเท่ากับว่า นอกจากกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิแทบจะทุกตารางเมตรในขณะนั้นแล้ว กลุ่มคิง เพาเวอร์ ยังใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิเป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Pick Up Counter) คือ เมื่อมีการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง จะต้องส่งมอบสินค้า ณ จุดที่กรมศุลกากรกำหนด ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ซึ่งก็คือ พื้นที่ใดๆ ในสนามบินสุวรรณภูมินั่นเอง

ดังนั้น ในเมื่อกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้สิทธิร้านค้าปลอดอากร และสิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดในสนามบินสุวรรณภูมิ จึงเรียกได้ว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ แทบจะผูกขาดการขายสินค้าปลอดอากรทั้งในสนามบินและในกรุงเทพฯ แต่เพียงเจ้าเดียวไปจนถึงปี 2563

แม้ว่าต่อมารัฐบาลจะประมูลสิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากร กิจกรรมการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Pick Up Counter) และสิทธิในการบริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมือง หลังรัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้งในปี 2555 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลได้สิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และกิจกรรมให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick Up Counter) ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นสัญญาเดียวกัน โดยมีอายุสัญญา 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2555-30 ก.ย. 2565 ส่วนกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป จับมือกับ Shilla (เกาหลี) ชนะการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ ทอท.ห้ามไม่ให้ใช้มีการนำพื้นที่เชิงพาณิชย์ทำจุด Pick Up Counter

ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และร้านค้าปลอดภาษีในกรุงเทพฯ ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ มีความมั่นคงต่อไปอย่างน้อย 4 ปี และนานพอที่จะสั่งสมทุนเพื่อที่จะนำไปสู่การชนะการประมูลร้านค้าปลอดภาษี สิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินทั้งสองแห่งต่อไปอีกยาวนาน

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ใช่ว่าหนทางของกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหลายต่อหลายครากลุ่มคิง เพาเวอร์ เจอมรสุมลูกใหญ่ๆ มาหลายลูก แต่ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ตกเป็นเป้าใหญ่ เมื่อ ทอท.ประกาศจะเลิกสัญญาร้านค้าปลอดภาษีกับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในปี 2550 เนื่องจากอ้างว่าสัญญาร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ เป็นโมฆะ เพราะมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนกรณีนักการเมืองเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ จนได้สัญญาดังกล่าวมา

ต่อมาในเดือน ก.พ. 2551 ศาลแพ่งฯ มีคำพิพากษาให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรไปกว่าจะสิ้นสุดสัญญา ขณะที่ในปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติฉิวเฉียด 5 ต่อ 4 ว่า การได้มาซึ่งสัญญาร้านค้าปลอดอากรของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน จึงมีมติให้ยกคำร้องในที่สุด แม้ว่าต่อมาในเดือน ก.พ. 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบ และพบความผิดปกติในเรื่องการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ท่าอากาศยานซึ่งเป็นสัญญาที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ มีกับบริษัท ทอท.ก็ตาม

นับจากวันที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ เริ่มต้นธุรกิจที่ผูกติดกับสัมปทานของหน่วยงานรัฐในธุรกิจร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี วันนี้กลุ่มคิง เพาเวอร์ มีรายได้ 6.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 มากกว่าค่าตอบแทนที่กลุ่มจ่ายเป็นค่าสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรี (ไม่รวมส่วนแบ่ง) 10 ปี (ปี 2548-2558) ที่มีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และในปี 2559 กลุ่มคิง เพาเวอร์ คาดว่าจะมีรายได้ 8.5 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งยังไม่นับรายได้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) คาดว่าปีนี้จะมีรายได้เติบโต 10-15% จากปีที่แล้วที่ีมีรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีเป็นขุมพลังหลักของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่ใช้ต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย