posttoday

รถไฟฟ้าชินคันเซนมาแล้ว

29 กรกฎาคม 2558

รถไฟญี่ปุ่นมาแล้วส่งทีมสำรวจ ส.ค.นี้ เสนอร่วมทุนรถไฟชินคันเซนวิ่ง กทม.-เชียงใหม่

รถไฟญี่ปุ่นมาแล้วส่งทีมสำรวจ ส.ค.นี้ เสนอร่วมทุนรถไฟชินคันเซนวิ่ง กทม.-เชียงใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯเชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. มีความคืบหน้าไปมาก โดยในเดือน ส.ค.นี้ ทางญี่ปุ่นจะต้องส่งทีมงานเข้ามาลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางรถไฟร่วมกับฝ่ายไทย โดยในเดือน มิ.ย. 2559 จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลสองประเทศ จากนั้นอีก 6 เดือนจะเสนอ ครม.อีกครั้งเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการเพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2560

โครงการนี้ทางญี่ปุ่นจะว่าจ้างที่ปรึกษามาตรวจสอบใหม่เพื่อเทียบกับผลการศึกษาเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงชินคันเซนในประเทศไทย เพราะนี่คือการส่งออกรถไฟชินคันเซนเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นด้วย

นายอาคม กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงที่ดินสาธารณูปโภค คมนาคมและท่องเที่ยว (MLIT) เกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงในโครงการนี้ ซึ่งทางญี่ปุ่นแจ้งว่าจะเน้นเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยเป็นสำคัญ และได้เสนอว่ารถไฟความเร็วสูงที่จะใช้ระบบรางของชินคันเซนนั้นจะต้องแยกรางออกมาต่างหากไม่ใช้ร่วมกับโครงการอื่น ซึ่งไทยรับไว้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ พบว่ารถไฟจาก จ.เชียงใหม่ มา สถานีบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดตัดของเส้นทางรถไฟ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่กรุงเทพฯ แผนเดิมกำหนดให้สถานีเชียงรากน้อยเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นในโดยใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต-เชียงรากน้อย ดังนั้น รถไฟจากสถานีบ้านภาชีมายังสถานีเชียงรากน้อย จะต้องใช้ระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณร่วมกัน ทั้งเส้นทางหนองคาย-แก่งคอยกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟฟ้าชินคันเซน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จึงต้อง หารือกันในเรื่องระบบอาณัติสัญญาณ

สำหรับรูปแบบการลงทุนกับการเงินนั้น ทางญี่ปุ่นแจ้งว่าจะเป็นการร่วมลงทุนกันตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ทั้งในช่วงการก่อสร้าง การวางระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ และการบริหารการเดินรถ จะเป็นบริษัทร่วมทุนซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล อีกทั้งไทยและญี่ปุ่นเห็นตรงกันว่าในตลอดเส้นทางจะพิจารณาเรื่องการพัฒนาเมืองและสถานีตลอดแนวส้นทางด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ตั้งงบก่อสร้างไว้ 4.26 แสนล้านบาท งบเวนคืนที่ดิน 1 หมื่นล้านบาท พื้นที่กว่า 7,000 ไร่