posttoday

กลุ่มผู้ผลิตยาสนองรัฐเตรียมกำหนดราคาข้างกล่อง

21 มิถุนายน 2558

กลุ่มยา ส.อ.ท. สนองรัฐปรับโครงสร้างยา เตรียมกำหนดราคาข้างกล่องทุกชนิด วอนรัฐทบทวนนโยบายประมูลยาราคาถูก ทำเอกชนสู้ราคาไม่ไหว

กลุ่มยา ส.อ.ท. สนองรัฐปรับโครงสร้างยา เตรียมกำหนดราคาข้างกล่องทุกชนิด วอนรัฐทบทวนนโยบายประมูลยาราคาถูก ทำเอกชนสู้ราคาไม่ไหว

นายเชิญพร เต็งอำนวย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางกลุ่ม ซึ่งมีสมาชิก 70 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่และขนาดกลาง จะมีการประชุมร่วมกันถึงแนวทางในการกำหนดราคาข้างกล่องให้ชัดเจน ตามนโยบายปรับโครงสร้างราคายาของภาครัฐ โดยขณะนี้มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมยาเล็กน้อย เพราะยังมียากว่า 60% ของระบบทะเบียนยาทั้งประเทศ ที่ยังไม่มีการกำหนดราคาขายที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นยาเฉพาะทาง เช่น ยารักษาเบาหวาน ยาความดัน ยาลดน้ำตาล ยาแก้อักเสบ ยาแก้ติดเชื้อ เป็นต้น และยังเป็นยาที่ใช้ในโรงพยาบาลเป็นหลัก รวมทั้งยังเป็นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ส่วนที่มีการกำหนดราคาขายชัดเจนจะอยู่ในกลุ่มยาสามัญประจำบ้านรวม 13 ชนิด ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่ เพราะถือเป็นสินค้าควบคุม

สำหรับสาเหตุที่ยาส่วนใหญ่ไม่มีการกำหนดราคา เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมียาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่สามารถผลิตเองได้ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนก็มักนำเข้า เพราะต้องแข่งขันในการทำกำไรให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินงานได้ โดยยาที่นำเข้าจากต่างประเทศสามารถกำหนดราคาขายและบวกกำไรที่เสรีกว่ายาที่ใช้ในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากยาที่ใช้ในโรงพยาบาลของรัฐจะเน้นการประมูลให้ได้ต้นทุนที่ถูก เพื่อนำมาใช้รักษาประชาชนตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

“ปัจจุบันรัฐกำหนดให้การจำหน่ายยาในโรงพยาบาลสามารถกำหนดกำไรได้ไม่เกิน 20% จากต้นทุน ภาคเอกชนจึงมักนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาสูง เช่น เม็ดละ 50 บาท สามารถบวกกำไรได้ทันที ขณะที่ยาในโรงพยาบาลรัฐที่สามารถผลิตทดแทนยาต่างประเทศได้จะมีต้นทุนถูกที่ประมาณ 1 บาท เมื่อบวกกำไรแล้วก็ยังถูกกว่า”

นายเชิญพร กล่าวว่า หากต้องการให้ราคายามีความเหมาะสมทั้งคุณภาพและราคานอกจากการกำหนดราคาขายที่ชัดเจนแล้ว อยากให้ภาครัฐทบทวนระบบการประมูลเพื่อให้ได้ยาที่ราคาถูก เพราะปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตยาของไทยหลายรายต้องปิดกิจการเนื่องจากแข่งขันด้านราคาไม่ได้ อีกทั้งยังมีองค์การเภสัชกรรมที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดยา จากปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาทด้วย

ปัจจุบันเมื่อรวมบริษัทยาทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีทั้งสิ้น 169 ราย จากอดีตที่เคยมีมากกว่า 200 ราย และคาดว่าในอนาคตบริษัทยาของไทยน่าจะมีการปิดกิจการเพิ่มเติม เนื่องจากองค์การอาหารและยา (อย.) จะมีการเพิ่มมาตรฐานการผลิตยาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ GMP เนื่องจากผู้ผลิตยาของไทยจำนวนมากยังไม่มีความสารมารถในการผลิตยาให้ได้มาตรฐานดังกล่าว เพราะมีต้นทุนสูง

สำหรับการใช้ยา 5 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ในภาวะทรงตัว จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัวขณะนี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หันใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า