posttoday

โซเชียลมีเดียอ่วม ข่าวลวงฉุดยอดใช้ฮวบ

02 กุมภาพันธ์ 2561

ผลสำรวจประชากรกว่า 8,000 คน จากสหรัฐ บราซิล อังกฤษ และฝรั่งเศส ของบริษัทวิจัย กันตาร์ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ความเชื่อถือต่อโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ปรับลดลงไปจากข่าวลวง

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

“เฟซบุ๊ก” โซเชียลมีเดียชื่อดัง เปิดเผยภายในการประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส 4 ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ใช้งานในแต่ละวันอยู่ที่ 1,400 ล้านคนทั่วโลก ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ที่ 1,410 ล้านคน ขณะที่ยอดผู้ใช้ในสหรัฐและแคนาดายังลดลง “เป็นครั้งแรก” จาก 185 ล้านคนในไตรมาส 3 มาอยู่ที่ 184 ล้านคนในไตรมาสที่ผ่านมา

มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊ก ระบุว่า ยอดผู้ใช้ที่ลดลงเป็นผลมาจากที่เฟซบุ๊กปรับลดการแสดงวิดีโอที่กำลังได้รับความนิยมในกระดานข่าวหรือนิวส์ฟีดของผู้ใช้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ใช้จากหน้าจอเฟซบุ๊กในแต่ละวันได้ 50 ล้านชั่วโมง/วัน

เฟซบุ๊กยังมองบวกว่าบรรดาผู้ลงโฆษณาในเฟซบุ๊กทั้งหลายมีผลตอบรับที่ดีกับการเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊ก และคาดว่าจะมีการลงโฆษณาเพิ่มอีกในปีนี้ แม้เฟซบุ๊กจะปรับเปลี่ยนนิวส์ฟีดให้เห็นเนื้อหาจากบรรดาแบรนด์ ธุรกิจ และสื่อน้อยลง ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 แสนล้านบาท)

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เฟซบุ๊กต้องเร่งเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของ “ข่าวลวง” ที่ระบาดอย่างหนักและปั่นป่วนให้เกิดความแตกแยกในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2016 โดยรัสเซียได้เข้าเผยแพร่ข้อความทางการเมืองของสหรัฐและเข้าถึงผู้ใช้เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมชาวสหรัฐมากถึง 150 ล้านคนผ่านการโฆษณา

ดึงคนกลับเข้าใช้

หากคนกลับมาใช้เฟซบุ๊ก เม็ดเงินจากโฆษณาย่อมตามมา แต่ข่าวลวงดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นต่อโซเชียลมีเดียลดลงในหลายประเทศทั่วโลก โดยผลสำรวจประชากรกว่า 8,000 คน จากสหรัฐ บราซิล อังกฤษ และฝรั่งเศส ของบริษัทวิจัย กันตาร์ ซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ความเชื่อถือต่อโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ปรับลดลงไปจากข่าวลวง

ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างหนักกับโซเชียลมีเดียเมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลัก โดย 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เชื่อถือข่าวในโลกโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เมื่อเทียบกับสื่อกระแสหลักที่มี 24% ไม่เชื่อถือ

เฟซบุ๊กประกาศปรับอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยซัคเกอร์เบิร์ก เปิดเผยว่า เตรียมปรับเพิ่มการมองเห็น “ข่าวท้องถิ่น” ในกระดานข่าวของผู้ใช้ หรือนิวส์ฟีดให้มากขึ้น ซึ่งหากผู้ใช้ตามเพจของสื่อท้องถิ่นหรือมีเพื่อนแชร์ข่าวดังกล่าว เฟซบุ๊กจะทำให้เห็นเป็นสิ่งแรกๆ ในนิวส์ฟีด

นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายรายซึ่งไม่ได้ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กมานานได้รับอีเมลจากเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อความชักชวนให้กลับมาใช้เฟซบุ๊ก เช่น เพื่อนได้โพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือเขียนคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียดังกล่าว หรือถามว่ามีปัญหาในการล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กหรือไม่

โซเชียลเร่งรุกสู้ข่าวลวง

ไม่ใช่แค่เฟซบุ๊กเพียงเจ้าเดียวที่ต้องสู้กับข่าวลวงระบาด “ทวิตเตอร์” เปิดเผยว่า มีผู้ใช้มากถึง 1.4 ล้านคน ที่มีปฏิสัมพันธ์กับบัญชีผู้ใช้รัสเซียที่ปั่นป่วนการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2016 ทั้งกดฟอลโลว์ รีทวิต หรือคอมเมนต์พูดคุย มากกว่าที่เปิดเผยทีแรกที่มากกว่า 6.77 แสนคน

ทวิตเตอร์พบแอ็กเคาต์ที่เกี่ยวเนื่องกับรัสเซียมากกว่า 5 หมื่นบัญชีผู้ใช้ ซึ่งแอ็กเคาต์จำนวน 3,800 บัญชี จากจำนวนดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต รีเสิร์ช เอเยนซี (ไออาร์เอ) บริษัทของรัสเซีย ที่มักปั่นป่วนโลกอินเทอร์เน็ตตามคำสั่งของรัฐบาลรัสเซีย

ด้านหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ทวิตเตอร์ได้ลบแอ็กเคาต์ปลอมมากกว่า 1 ล้านแอ็กเคาต์ที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มยอดฟอลโลเวอร์ (ติดตาม) หลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีการซื้อขายยอดฟอลโลเวอร์จากบริษัทเดวูมี ซึ่งขายยอดฟอลโลเวอร์ในทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ ได้เข้าลงทุนในแฟคเมต้า สตาร์ทอัพจากสหราชอาณาจักรที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยโซเชียลมีเดีย สื่อ และผู้ลงโฆษณา ในการตรวจสอบข่าวลวงและคอนเทนต์ล่อให้กด (คลิกเบต) โดยสตาร์ทอัพดังกล่าวมีแผนจะเริ่มให้บริการด้านข่าวภายในปีนี้


กังวลโมเดลธุรกิจ “ไลน์”

ด้านบริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชัน ที่เพิ่งประกาศแผนเตรียมลงสนามซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลผ่านแอพพลิเคชั่น เผชิญแรงกดดันจากราคาหุ้นที่ร่วงลงถึง 5.6% ระหว่างการซื้อขายวานนี้ โดยนอกจากนักลงทุนจะแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อการเข้าสู่ตลาดเงินดิจิทัลแล้ว ก็ยังเป็นเพราะผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทขาดทุน 4,000 ล้านเยน (ราว 1,160 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับคาดการณ์ที่จะกำไร 2,340 ล้านเยน (ราว 6.78 แสนล้านบาท) เนื่องจากการลงทุนปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถพูดได้ การทำตลาดเกม และค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนต่างๆ

ทาเคชิ อิเดซาวะ ซีอีโอของไลน์มุ่งเป้าจะผลักดันให้ไลน์เป็นมากกว่าแอพพลิเคชั่นแชต ด้วยการเป็นศูนย์รวมความบันเทิง รวมไปถึงการทำธุรกรรมการเงินด้วย โดยไลน์เพิ่งประกาศจะเปิดให้บริการซื้อขายเงินดิจิทัลไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และได้ยื่นจดทะเบียนกับทางการญี่ปุ่นแล้ว

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้ในตลาดหลัก 4 ประเทศแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 167.5 ล้านคน เมื่อไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยยอดขายของบริษัทปรับขึ้น 19% ขณะที่ยอดโฆษณาปรับขึ้น 40% แต่ยอดขายจากเกมปรับลดลง 10%

“การเข้าสู่ตลาดเงินดิจิทัลนั้นมีทั้งความเสี่ยง (ทางการเงิน) และผลลัพธ์ที่ดี (ราคาหุ้นที่ปรับขึ้น) พวกเราสงสัยว่าเมื่อไรที่นักลงทุนจะเห็นกำไรจากไลน์” อาตุล โกยัล นักวิเคราะห์ของเจฟเฟอรี่ย์ส กรุ๊ป กล่าวกับบลูมเบิร์ก