posttoday

ต้นแบบอุปกรณ์ไอโอทีแบบพกพา

20 มกราคม 2561

ในการแข่งขันอิมเมจินคัพ 2017 ภายใต้ธีม “StudentsInSTEM” ที่ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)

โดย  ภาดนุ

 ในการแข่งขันอิมเมจินคัพ 2017 ภายใต้ธีม “StudentsInSTEM” ที่ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้จัดขึ้นเพื่อตอกย้ำความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับนักเรียน นักศึกษา ในการคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ไขปัญหา และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ประเทศไทยในยุค 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ

 ผู้ชนะเลิศประจำปี 2017 ซึ่งได้แก่ ทีมเวลส์ (Welse) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ผ่านการแข่งขันอย่างเข้มข้น หลังจากผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 7 ทีมสุดท้ายจากทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 100 ทีมทั่วประเทศ จนทำให้ทีมเวลส์สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศครั้งนี้ไปได้

 คเณศ เขมิกานิธิ วัย 23 ปี อดีตนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ของบริษัท อโกด้า หนึ่งในสมาชิกทีมเวลส์ พร้อมเพื่อนอีกสองคนคือ ภาสกร จันทรมหา และ พสธร สุวรรณศรี เล่าถึงตอนที่ทีมเวลส์ส่งผลงานเข้าแข่งขันในโครงการอิมเมจินคัพ 2017

 “สิ่งที่ทีมเราคิดและประดิษฐ์ขึ้น เป็นอุปกรณ์ไอโอทีแบบพกพา หรือเรียกว่า ‘ต้นแบบอุปกรณ์สำหรับตรวจเลือด’ ที่ช่วยสร้างการทดสอบเชิงคลินิก (Clinical Test) ของเลือดก็ได้ เมื่อตรวจแล้วก็จะส่งผลไปยังแอพพลิเคชั่น เพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งการคิดค้นอุปกรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการสื่อสารและอำนวยความสะดวกในเรื่องการทำงานให้กับเครือข่ายอาสาสมัครและสถานีอนามัยท้องถิ่น

ต้นแบบอุปกรณ์ไอโอทีแบบพกพา

 ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเจ้าเครื่องไอโอทีนี้จะมีหลักการคล้ายกับเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะมีแผ่นชิปพลาสติกใสเอาไว้แต้มหยดเลือดจากนิ้วผู้ที่ต้องการทดสอบลงไป โดยแผ่นพลาสติกนี้จะมีปฏิกิริยาเมื่อเลือดที่แตะลงไปผสมกับสารที่เคลือบแผ่นพลาสติก จากนั้นก็จะนำแผ่นพลาสติกไปเข้าเครื่องอ่านที่สามารถยิงแสงผ่านแผ่นพลาสติกใสอีกทีเพื่อหาค่าตัวกลาง ก็จะได้ออกมาเป็นค่าความเข้มข้นของสารที่ต้องการ ซึ่งหากจะเรียกอุปกรณ์นี้ว่า ‘อุปกรณ์หาค่าความผิดปกติของตับและไต’ ก็ได้เช่นกัน”

 คเณศบอกว่า เครื่องอ่านค่าแผ่นพลาสติกใสนี้ จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า "การดูดกลืนแสง" ซึ่งจะทำให้รู้ค่าเอนไซม์เบื้องต้นของคนที่นำหยดเลือดมาตรวจ จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะนำค่าที่เครื่องอ่านได้ไปแปลผลอีกทีว่าตับกับไตของคนที่มาตรวจเลือดนั้นมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายก็จะนำคนคนนั้นไปเช็กร่างกายแบบละเอียดอีกที ว่าเข้าข่ายเป็นโรคอะไรกันแน่

 “ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ อุปกรณ์ตัวนี้เปรียบเหมือนตัวสกรีนนิ่ง เทสต์ เบื้องต้น หากจะนำไปใช้ในวงการแพทย์อย่างจริงจัง ก็ต้องให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้พัฒนาต่อไป เนื่องจากตอนที่ทีมของเราส่งผลงานเข้าแข่งนั้น เรามาถึงจุดที่ต้องนำผลไปทดสอบต่อในแล็บแค่นั้น ซึ่งจะทดลองเพียงว่าค่าที่เครื่องอ่านได้นั้นมีผลสอดคล้องกับค่าเอนไซม์ที่ตรวจได้ในแล็บแบบละเอียดจริงๆ จากแพทย์

 ผลของค่าเอนไซม์ที่อ่านได้นี้ จะสามารถส่งไปจัดเก็บไว้ในระบบคลาวด์ได้ โดยตอนนั้นเราจะมีเว็บเพื่อรองรับจัดเก็บการแสดงผลไว้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต่อยอดเจ้าเครื่องนี้จะเน้นหนักไปทางด้านการแพทย์ที่ต้องนำไปพัฒนาต่อ เพราะว่าตอนที่ทดลองเบื้องต้น เราจะนำพลาสม่าที่มีโมเลกุลคล้ายกับเลือดจริงของคนมาใช้ทดลองแทน แต่หากวงการแพทย์จะนำไปทดลองต่อโดยใช้กับเลือดจริงๆ ของคน ก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอดและต้องมีการเช็กผลวิจัยให้ละเอียดด้วย พูดง่ายๆ ว่าทีมเวลส์คือผู้คิดค้นอุปกรณ์เบื้องต้นเพื่อให้บุคลากรในวงการแพทย์ไปต่อยอดจากเราอีกทีนั่นเอง”

 คเณศทิ้งท้ายว่า นับจากเรียนจบมาและทำงานประจำได้ 6 เดือน เขาและเพื่อนๆ ทีมเวลส์ก็ยังไม่ได้คิดค้นหรือทำโปรเจ

ต้นแบบอุปกรณ์ไอโอทีแบบพกพา

กต์ใดๆ เพิ่มเติมเลย เนื่องจากทุกคนได้แยกย้ายกันไปทำงานประจำแล้ว แต่ในอนาคตข้างหน้ากลุ่มเพื่อนๆ ทีมเวลส์ก็อาจจะกลับมาทำโปรเจกต์ใหม่ๆ ร่วมกันอีกก็ได้

 “ผมว่าตอนนี้อย่างน้อยผลงานของทีมเวลส์ ก็ยังเป็นต้นแบบให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาของพวกเราได้นำผลการทดลองจากแล็บที่เราทำไว้ ไปให้นักศึกษารุ่นน้องได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ถือว่าสิ่งที่ทีมเราคิดค้นขึ้นนี้ เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่จะต้องดำเนินการต่อไปอยู่แล้ว”